พระกริ่ง เนื้อนวโลหะ (แซยิด) หลวงปู่หลวง กตปุญโญ วัดคีรีสุบรรพต ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง

+ Free Shipping

โทร : 087 – 712 -4640 

ID.LINE busoftware52
#พระทุกองค์มีบัตรรับประกันจากร้านพลศรีทอง

พระกริ่ง เนื้อนวโลหะแก่เงิน (แซยิด) หลวงปู่หลวง กตปุญโญ

วัดคีรีสุบรรพต ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง ตอกโค๊ด กำกับ

สร้างปี2541 สภาพสวยเดิมพร้อมกล่องบูชา สร้างจำนวน 1,579 องค์

 

ต้นตระกูลของหลวงปู่หลวง

ในอดีต ต้นตระกูลของหลวงปู่หลวง กตปุญฺโญนั้นสืบย้อนไปประมาณสามชั่วอายุคน บรรพบุรุษทางสายโยมบิดาคือโยมปู่ของท่านมีเชื้อสายชาวภูไท ชนเผ่าหนึ่งที่เดิมมีถิ่นฐานแถบนครเวียงจันทร์ ประเทศลาว ต่อมาได้พากันอพยพย้ายที่ทำกินข้ามแม่น้ำโขงมาทางฝั่งประเทศไทย โดยมาตั้งรกรากอยู่อาศัยทำมาหากินในเขตจังหวัดสกลนครเป็นส่วนใหญ่ โยมปู่ของท่านมีชื่อนิยมเรียกกันตามชื่อบุตรคนหัวปีว่า “พ่อตัน” ได้สืบทอดอาชีพเดิมๆ ที่บรรพบุรุษทำกันต่อๆ มา คือ การทำนาทำสวน ปลูกผักและหาปลาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวเรื่อยมาและได้มาเจอคู่กรรมคือโยมย่า “สีแพง” ที่จังหวัดสกลนครนี่เอง เมื่อได้ตกลงอยู่กินด้วยกัน ทั้งสองคนก็ได้ร่วมสร้างครอบครัวขึ้นมาใหม่ ต่างมีลูกด้วยกันรวมแล้วถึง ๗ คน ตามลำดับ ดังนี้

๑) นาย ตัน

๒) นาง น้อย

๓) นาง จันทา

๔) นาย จำปา

๕) นาย สีทอง (ซึ่งต่อมาได้บวชเป็นพระ เป็นหลวงลุงของหลวงปู่)

๖) นาย สน (โยมพ่อของหลวงปู่)

๗) นาย สาน

บ้านเดิมของหลวงปู่ท่านก็คือบ้านบัว ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร อันเป็นบ้านเกิดเดียวกันกับหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร และหลวงปู่แว่น ธนปาโล ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่หลวง นับเป็นญาติกันทางสายโยมมารดาอีกทีหนึ่ง ส่วนโยมตาของหลวงปู่ชื่อว่า “เกล้าน้อย” ซึ่งเดิมเป็นคนทางภาคเหนือ สืบเชื้อสายมาจากพวกไทยใหญ่ หรือที่เรียกว่า ไทยลื้อ มีถิ่นฐานบ้านเดิมอยู่แถบบ้านกล้วย อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ได้เอาสินค้าจำพวกเครื่องเขินและเครื่องเงินเครื่องประดับเครื่องใช้ต่างๆ อันเป็นงานฝีมือของทางภาคเหนือ หาบด้วยบ่ากันเป็นหมู่ นำไปค้าขายทางแถบภาคอีสาน รอนแรมไปเรื่อยๆ แล้วก็หาหรือแลกซื้อสินค้าจำพวกผ้าที่ทอด้วยมือ มีลวดลายสวยงามทางภาคอีสาน กลับไปขายทางภาคเหนืออีกทีหนึ่ง เที่ยวหนึ่งๆ ก็นับเป็นเดือนๆ บ่อยเข้าก็ได้ไปเจอกับโยมยาย (ไม่ทราบชื่อ) ซึ่งมีอาชีพทำนาและอยู่อาศัยในจังหวัดสกลนคร เมื่อถูกใจกันก็ตกลงอยู่กินร่วมกัน โดยช่วยกันทำมาค้าขาย รับซื้อปลาซื้อผักจากชาวบ้านมาขายต่อ บางทีก็กลับไปทางเหนือเพื่อเอาสินค้ามาขาย ต่างช่วยกันประกอบสัมมาอาชีพหาเลี้ยงครบครัวจนมีลูกด้วยกัน ๗ คนด้วยกัน คือ

๑. นาย คุด

๒. นาง นา

๓. นาง สา

๔. นาง สอน

๕. นาง ซ้อน

๖. นาง สียา (โยมแม่ของหลวงปู่)

๗. นาง น้อย

ครอบครัวสอนวงศ์ษา

ต่อมาเมื่อนายสนได้มาพบนาง สียา และได้รักใคร่ชอบพอกัน ตกลงใช้ชีวิตร่วมกันสร้างครอบครัวขึ้นมาโดยใช้นามสกุลว่า “สอนวงศ์ษา” ตั้งตามชื่อของบรรพบุรุษที่แรกเริ่มย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกรากทางฝั่งไทย อันเป็นธรรมเนียมนิยมในสมันเริ่มแรกที่ให้มีการใช้นามสกุล ได้มีลูกด้วยกัน ๖ คน ดังนี้

๑. นาย หลวง สอนวงศ์ษา (หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ)

๒. นาย หลวย สอนวงศ์ษา (ถึงแก่กรรม)

๓. นาง หลาว สอนวงศ์ษา ปัจจุบันบวชเป็นแม่ชีอยู่ปฏิบัติพระลูกชายที่วัดศิลาวารี อ.เถิน จ.ลำปาง

๔. นาง เลี่ยน สอนวงศ์ษา (ถึงแก่กรรม)

๕. นาง ล้อง สอนวงศ์ษา (ถึงแก่กรรม)

๖. นาย ไหล สอนวงศ์ษา (ถึงแก่กรรม)

นาย หลวง สอนวงศ์ษา หรือหลวงปู่หลวง กตปฺโญ ได้ถือกำเนิดเกิดมาเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๔ ตรงกับวันจันทร์ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีระกา ที่บ้านบัว ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

การเป็นลูกชายคนโตของพ่อแม่ จึงจำเป็นต้องช่วยเป็นกำลังสำคัญของทางบ้านช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ในการดูแลน้องๆ และงานในบ้านทั่วไป ตลอดจนช่วยเก็บหาพืชผักจับปลามาเลี้ยงชีพมาตั้งแต่ท่านอายุยังน้อย ชีวิตของชาวไร่ชาวนาในชนบทสมัยนั้น จำต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศเข้าช่วย หากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลหรือมีโรคแมลงระบาดเบียดเบียน พืชผลผลิตที่ปลูกก็เก็บเกี่ยวได้ไม่เต็มที่ เสียหายเยอะ ก็ต้องหาอาชีพอื่นมาช่วยเสริม เช่นรับจ้างทำงานต่างๆ ตามแต่จะหาได้ หรือปลูกพืชไร่อย่างอื่นทดแทน พอมีพอกินไม่ให้อดอยาก แม้ต้องเหน็ดเหนื่อยเพียงไร

นาย สน – นาง สียา ตลอดจนเด็กชายหลวงในสมัยนั้นก็ต้องพากเพียรพยายามอดทนหาเลี้ยงชีวิตและครอบครัว โดยการทำนาทำสวนและค้าขายปลา หมุนเวียนกันไปตามแต่วาระโอกาส เฉกเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ซึ่งต่างต้องดิ้นรนทำมาหากินด้วยกันทั้งนั้น จะดีกว่าปัจจุบันก็ตรงที่ค่าครองชีพไม่สูงนักอย่างสมัยนี้ ผักปลาก็หาได้ง่ายไม่ลำบากนัก ชีวิตความเป็นอยู่จึงสุขสบายตามอัตภาพ และดีที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ไม่ต้องไปเช่าเขาทำกิน

ใช้กรรมเก่าตั้งแต่เด็ก

ด้วยเหตุที่ต้องช่วยงานทางบ้านตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก เด็กชายหลวงในขณะนั้นแม้อายุเพียง ๕ ขวบ วันหนึ่งขณะที่ได้ช่วยแม่ใช้มอง (ที่ตำข้าว) ตำขาวอยู่นั้น เด็กชายหลวงมิทันระวังตัว ไม้ค้ำมองตำข้าวได้เกิดล้มมาทับข้อเท้าข้างขวาอย่างจัง จนข้อเท้าพลิกเดินไม่ปกติตั้งแต่นั้นมา

หลวงปู่หลวงท่านบอกว่า “เป็นกรรมเก่าของท่านเอง” ตั้งแต่อดีตชาติ เคยใช้เท้าขวาเตะผู้มีพระคุณ กรรมนั้นได้ตามมาส่งผลให้ต้องชดใช้ แม้จะล่วงเลยมานานนับอีกชาติหนึ่งก็ตาม ท่านว่ากรรมใดๆ ก็ตาม มิอาจตัดหรือลบล้างได้ ต้องชดใช้ เว้นแต่กรรมที่คู่กรณีต่างอโหสิกรรมต่อกันแล้วเท่านั้น จึงอาจระงับหมดไปได้ ยกเว้นกรรมที่เป็นอนันตริยกรรม คือ กรรมหนัก กรรมบางอย่างอาจขอผ่อนปรนจากหนักเป็นเบาได้ด้วยบุญกุศลที่ได้สร้างได้ทำ แต่ก็ยังต้องชดใช้บางส่วนที่เหลืออยู่ กรรมมันตามคอยส่งผลได้นับร้อยๆ ชาติ

คนเราทำกรรมก่อกรรมไว้ เมื่อตายไปก็ต้องชดใช้กรรมอยู่ในนรก จะยาวนานอย่างไรก็ตามความหนักเบาของกรรมพ้นจากนรกขึ้นมา ก็ต้องมาใช้เศษกรรมในภพภูมิอื่นต่ออีกจนหมดกรรม ใช่ว่าจะใช้กรรมหมดได้ในครั้งเดียว ชาติเดียว ครู่เดียว ฉะนั้นเราจึงไม่ควรประมาทในกรรม กรรมมันเป็นวิบาก กรรมมันตัดรอนเอาได้ทุกเมื่อ

จากอุบัติเหตุในครั้งนั้น มีผลให้เด็กชายหลวงต้องป่วยหนักจนเกือบตาย นางสียาได้ไปขอบนบวชไว้ว่า ถ้าลูกของนางหายจากการป่วยครั้งนี้ จะให้บวชเป็นพระ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ฝังใจเด็กชายหลวง นำสู่ความคิดที่จะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ แม้ในภายหลังก่อนที่นางสียาจะถึงแก่กรรม นาง ก็ยังได้สั่งเสียในวาระสุดท้ายว่า “ขอให้ลูกหลวงบวชให้ได้

บวชเป็นพระในมหานิกาย

ระหว่างนี้ นายหลวงได้ทำงานรับจ้างทั่วไป โดยเป็นช่างลูกมือการก่อสร้างบ้านและงานอื่นๆ เท่าที่จะหาได้ ทั้งในตัวจังหวัดอุดรฯ หรือแถบใกล้บ้าน เมื่อมีเวลาว่างก็เพียรศึกษาอ่านหนังสือธรรมะและฝึกนั่งสมาธิตามตำราควบคู่กันไป

ได้เห็นผู้คนรอบข้างต้องดิ้นรนทำมาหากิน ต้องเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอยู่แทบทุกวันตั้งแต่เช้ายันค่ำ วนเวียนอยู่เช่นนั้นเป็นกิจวัตร จะหาความสุขที่แท้จริงไม่ได้เลย ต่างมีภาระหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อให้ชีวิตตนเองและครอบครัวอยู่ได้ บ้างก็พยายามสะสมเงินทองทรัพย์สมบัติ แต่ถึงจะยากดีมีจน มีฐานะ มีหน้าที่ มีชื่อเสียงเช่นไร ต่างก็หนีไม่พ้นที่จะต้องพบกับการเกิด แก่ เจ็บและตายไปได้ ไม่มีสิ้นสุด ชีวิตคนเราก็เท่านี้ ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากวงเวียนแห่งกรรมเหล่านี้ไปได้

นายหลวงยิ่งศึกษาธรรมะจากหนังสือ แม้ไม่มีผู้ใดชี้แนะสั่งสอนเป็นครูบาอาจารย์ คงมีแต่หลวงลุงที่วัดเท่านั้น ที่จะพอพึ่งพาปรึกษาได้ในบางเรื่อง ถึงแม้หลวงลุงจะเป็นพระที่บวชในพระศาสนา แต่ท่านก็มีกิจภาระมากมาย ทั้งต้องยุ่งกับเรื่องทุกข์ของชาวบ้านที่มาพึ่งพา ขอความช่วยเหลือจากท่าน ด้วยเหตุที่ท่านเป็นพระที่เก่งทางไสยศาสตร์ ไหนจะสอนงานหนังสือนักธรรมที่ทำอยู่ ก็ไม่พ้นเรื่องยุ่งๆ ทางโลก

มีแต่หนังสือธรรมะที่หาอ่านได้เท่านั้น พอยึดเป็นแนวทางปฏิบัติได้ จะผิดถูกอย่างไรก็ตามที แต่เมื่อได้ทำสมาธิตาม หนังสือแล้ว ก็เกิดผลจนน่าพอใจในระดับหนึ่ง จุดใดที่สงสัยก็ยังติดอยู่อย่างนั้น ไม่สามารถแก้ได้เอง คงทำตามความเข้าใจของตนเองเท่าที่ทำได้เท่านั้น ใจหนึ่งก็คิดอยากจะบวชเรียน เพื่อที่จะได้มีเวลาอ่านหนังสือและศึกษาธรรมให้เต็มที่ จะได้แสวงหาครูบาอาจารย์มาช่วยชี้แนะสั่งสอน ก็ได้แต่เพียงคิดดำริไว้ในใจเท่านั้น ยังหาโอกาสปล่อยวางภาระหน้าที่ไม่ได้สักที

จนวันหนึ่งได้มีโอกาสไปช่วยอาทำการก่อสร้างกฏิพระที่วัดก็ได้ปรารภกับอาว่าถ้าได้บวชก็จะดี เพราะตอนนี้ก็มีอายุครบบวช ได้แล้ว ได้ปรึกษากับญาติผู้ใหญ่คนอื่นๆ ก็เห็นดีด้วย อนุญาตให้ได้บวชตามประสงค์

ครั้นเมื่อมีอายุได้ ๒๒ ปีเต็ม ก็มีจังหวะที่ว่างเว้นจากหน้าที่การงาน หลวงลุงก็ได้ชวนให้บวชและไปอยู่ด้วยที่วัด จึงทำการบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ในสังกัดมหานิกายเช่นเดียวกับหลวงลุงคือ พระอาจารย์สีทอง พนฺธุโล ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ได้ฉายาทางพระว่า “ขนฺติพโลภิกฺขุ” ณ พัทธสีมาวัดศรีรัตนาราม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ นั่นเอง

พรรษาแรก

เมื่อได้บวชเป็นพระสมดังใจแล้ว ในพรรษาแรก พระหลวง ขนฺติพโล ก็ได้อยู่จำพรรษาในวัดที่หลวงลุงเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ได้ช่วยปฏิบัติรับใช้และศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบนักธรรมตรีได้ ด้วยความเอาใจใส่ฝึกฝนและขยันท่องบ่นอ่าน หนังสือจนในบางครั้งครูที่สอนนักธรรมก็ให้ท่านช่วยสอนแทนในบางโอกาส พระหลวงก็ตั้งใจทำตามความสามารถทั้งยังช่วยหลวงลุงดูแลกิจของสงฆ์เป็นอันดี จนเป็นที่รักและไว้วางใจของทุกคนทั้งพระผู้ใหญ่และหมู่เพื่อน

ถึงงานจะมากแต่ท่านก็ไม่ทิ้งกรรมฐาน คงหาโอกาสทำความเพียรโดยอาศัยตำราเป็นครูสอน เพราะเห็นผลจากการทำสมาธิแล้วว่า ช่วยให้มีความทรงจำดีและสติมั่นคงเช่นไร อาทิเช่นสามารถท่องจำบทสวดมนต์ได้หมด ภายในเวลาเพียง ๒ วัน แต่ไม่จบปาฏิโมกข์เพราะไม่สบายเสียก่อน

พรรษา ๒ เห็นความไม่แน่นอน

พระภิกษุหลวง ขนฺติพโล ได้พยายามใช้เวลาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะเมื่อได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว ด้วยใจศรัทธาที่มีอยู่อย่างแรงกล้าตั้งแต่ครั้งที่เป็นฆราวาสได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ มีความตั้งใจที่จะเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่ดีตามแบบอย่างของครูบาอาจารย์ที่ได้อ่านพบ

จึงได้หมั่นปฏิบัติสมาธิภาวนา จนพระที่บวชอยู่ด้วยกันรู้สึกแปลกใจในการกระทำ บางองค์ถึงแม้บวชมากว่า ๒๐ พรรษา ก็ยังมาถามท่านว่า

“ปฏิบัติหลายๆ ทิ้งกรรมฐานแล้วบ่”

ซึ่งพอท่านได้ยินผู้ถามเช่นนั้น ก็รู้สึกสลดสังเวชใจที่พระทั่วไปส่วนใหญ่ถึงบวชมานานก็ยังไม่มีความเข้าใจในกรรมฐานอย่างแท้จริง ไม่เข้าใจว่ากรรมฐานคืออะไร แต่ท่านก็ไม่ได้แสดงอาการโต้ตอบอย่างไร คงวางเฉยแล้วทำความเพียรต่อไปตามปกติ แต่เมื่อถูกพระผู้นั้นถามบ่อยๆ เข้า ท่านก็ตอบกลับไปว่า

“ทิ้งได้อย่างไร”

พลางเอามือจับที่เส้นผม แล้วว่า

“กรรมฐานคือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่แหละ”

จากนั้นมาก็ไม่มีใครมาถามท่านในเรื่องเช่นนี้อีกเลย

การบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ต้องมีความศรัทธาและมีความอดทน ทั้งต่อกิเลสกามและวัตถุกาม ที่อยู่รายรอบและนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานมาช้านาน หากไม่รู้จักหักห้ามจิตและอดทนแล้ว ก็ย่อมต้องพ่ายแพ้ต่อภัยกิเลสทั้งหลายได้โดยง่าย มักจะอยู่ได้ไม่ยืดไม่ทน หรือหากอยู่ได้นานก็เพราะจำทนอยู่ไม่มีหนทางที่ไปทำอย่างอื่น จึงจำเป็นต้องเป็นพระอยู่อย่างนั้น ยิ่งอยู่นานวันก็ยิ่งทำผิดพลาด เพราะอาจย่อหย่อนต่ออาบัติโดยไม่รู้ตัว มีแต่จะติดลบเป็นบาปเป็นกรรมมากยิ่งขึ้น ไม่ได้กระทำตนหรือประพฤติปฏิบัติให้เป็นพระที่แท้จริงให้เป็นเนื้อนาบุญที่ดี

ในที่สุดพระหลายๆ รูปที่เคยบวชอยู่จำพรรษาด้วยกัน รวมทั้งตัวหลวงลุงเองซึ่งเป็นเจ้าอาวาสยังต้องพ่ายต่อกิเลส พากันสึกออกไปมีครอบครัว หรือไปทำมาหากินทางโลก พอออกพรรษาต่างสึกออกไปจนหมด คงเหลือแต่พระภิกษุหลวงเพียงรูปเดียว ก่อนที่หลวงลุงจะสึก ก็ยังได้มาชวนให้ท่านลาสิกขาด้วย จะได้ไปช่วยกันทำมาหากิน แต่ท่านไม่เอาด้วย เพราะยังมุ่งมั่นที่จะเป็นพระอยู่ในพระศาสนาคงทำหน้าที่ของความเป็นพระต่อไป แม้จะต้องอยู่เพียงรูปเดียว

เมื่อวัดแทบร้างเพราะพระพากันลาสิกขาออกไปจนเกือบหมด ชาวบ้านก็ได้เห็นว่าพระภิกษุหลวง ซึ่งเหลืออยู่เพียงรูปเดียวนั้นมีความตั้งใจไม่เปลี่ยนแปร มั่นอยู่ในเพศบรรพชิตทั้งยังเป็นพระที่น่านับถือ อีกยังมีวิชาความรู้ติดตัว พอที่จะสามารถเป็นเจ้าอาวาสรูปใหม่รักษาวัดต่อไปได้ ทางพระผู้ใหญ่ในตำบลก็เห็นสมควรด้วย จึงได้แต่งตั้งให้พระภิกษุหลวง ขนฺติพโล รักษาการเป็นเจ้าอาวาสแทนรูปเดิมที่ลาสึกไป ทั้งที่เพิ่งบวชมาได้ ๒ พรรษานี่เอง พระหลวงจึงได้เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่พรรษายังน้อย แต่ก็เป็นที่ยอมรับนับถือของชาวบ้าน ได้อยู่ครองดูแลวัดตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ตลอดพรรษาที่ ๓ และพรรษาที่ ๔ เมื่อเป็นเจ้าอาวาสก็มีหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นด้วย เป็นทั้งหัวหน้าและนักเรียน ช่วงเวลาตอนกลางวันก็เล่าเรียนนักธรรม ตกตอนกลางคืนก็นั่งภาวนาอย่างนี้สลับกันไป จนกระทั่งสอบผ่านนักธรรม มีความรู้ความสามารถมากขึ้น

ฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่น

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ

ครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๔๘๗ ขณะที่เดินทางไปกราบมนัสการพระธาตุพนม ได้ผ่านไปทางจังหวัดสกลนคร ก็ได้แวะไปกราบเยี่ยมหลวงปู่แว่น ธนปาโล ซึ่งขณะนั้นท่านพักอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านโคก อ.เมือง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอ.โคกศรีสุพรรณ) จ.สกลนคร ในฐานะที่หลวงปู่แว่นท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เมื่อหลวงปู่แว่นทราบว่าหลวงปู่หลวงมีความสนใจในการปฏิบัติกรรมฐาน อาจเป็นด้วยเคยมีบารมีธรรมเกื้อกูลกันมา ท่านจึงได้ชักชวนให้เข้าไปกราบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ พระอาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนาผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้น ซึ่งในขณะนั้นท่านได้อยู่จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคกนั้นพอดี

เมื่อได้เข้าพบและมีโอกาสได้รับฟังการอบรมจากท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นท่านได้ชราภาพมากแล้ว แต่ก็ยังคงแสดงธรรมได้อย่างพิสดารจับใจเป็นยิ่งนัก ใครได้ฟังก็รู้สึกซาบซึ้งใจในข้ออรรถข้อธรรมที่ท่านแสดง ซึ่งแต่ละคำแต่ละประโยค ล้วนมีข้อคิดลึกซึ้งและมีคำอธิบายได้แจ่มแจ้ง ช่วยให้เกิดความตื่นตัวและรักที่จะปฏิบัติธรรมยิ่งขึ้นไปอีก

ช่วงระหว่างที่ท่านแสดงธรรม ทุกคนที่นั่งฟังต่างนิ่งสงบแทบไม่ไหวติง ต่างอยู่ในอาการถึงพร้อมด้วยสติ ที่จะน้อมรับนำพาธรรมะที่ท่านบรรยายมา ให้เข้าสู่จิตใจและปฏิบัติตามโดยมิย่อท้อ แม้พวกสามเณรในที่นั้นยังต้องแอบฟังด้วยใจจดจ่อด้วยไม่มีพื้นที่พอที่จะขึ้นไปฟังบนกุฏิที่แสดงธรรมของท่านได้เพราะแต่ละคืน แต่ละคราวที่ท่านพระอาจารย์มั่นแสดงธรรมจะมีบรรดาพระเถรานุเถระที่เป็นศิษย์ในสายปฏิบัติ นั่งฟังอยู่เต็มไปหมด

ในอุบายธรรมที่พระอาจารย์มั่น ได้เทศน์อบรมในวันนั้น มีอุบายช่วงหนึ่ง ที่หลวงปู่หลวงได้จดจำนำมาพิจารณาเป็นพิเศษจนเป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจมาจนทุกวันนี้ มิลืมเลือน คือท่านได้เทศน์ว่า

“ไปกราบแต่ธาตุพนม มันหลงธาตุ ธาตุโต (ตัวเรา) บ่ไหว้ ไปไหว้แต่ธาตุเพิ้น (คนอื่น) บ่มีหยัง มีแต่ก้อนอิฐ มันหลงธาตุ ปานคนโง่ง่าว ไปค้าขายแต่บ้านอื่น คนฉลาดมีปัญญา ค้าขายอยู่บ้านเจ้าของ ผู้เฒ่าหลงลืม มัดผ้าขาวม้าอยู่บนหัวแล้วไปหาที่อื่น แล่นเหาะแล่นหอบ (วิ่ง) ไปมาจนเหงื่อออก จึงฮู้ว่าอยู่บนหัว”

หลวงปู่หลวงได้ฟังดังนั้นแล้วก็นำมาพิจารณา จึงรู้จริงเข้าใจแจ่มแจ้งว่า “ธรรมทั้งหมดมารวมอยู่ในกายนี้”

เมื่อได้ยินท่านพระอาจารย์มั่นท่านแสดงธรรมจบแล้วพระหลวงก็ได้คลายหายสงสัยว่า ทำไมพระนักปฏิบัติจึงไม่ต้องการแสวงหา ลาภ ยศ สรรเสริญอีก

หลังจากได้ไปกราบมนัสการและฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระแล้ว หลวงปู่หลวงก็ได้กลับมาที่วัดศรีรัตนาราม เพื่ออยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม แต่ได้พยายามทำความเพียรในการปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลและสามารถเข้าถึงธรรมอย่างเร็วที่สุด เท่าที่สติปัญญาจำพึงมีพึงทำ โดยมีกิจวัตร ข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

กล่าวคือ กลางวันก็จะไปปฏิบัติหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบในตำแหน่งเจ้าอาวาสที่วัดศรีรัตนาราม เขียนบัญชีพระเณรและเอกสารต่างๆ จนมือปวดมือแข็งด้านไปหมด ส่วนตอนกลางคืนก็จะกลับไปปฏิบัติธรรมเร่งความเพียรภาวนาตามลำพัง

แต่งานด้านการศึกษาเล่าเรียนก็ใช่ว่าจะทิ้งเสียทีเดียว คงหมั่นท่องจำศึกษาด้านนักธรรมควบคู่กันไปด้วยกับงานด้านการปกครองดูแลคณะสงฆ์ เรียกได้ว่าท่านคงหมั่นหาความรู้ เข้าใส่ตัวอยู่เสมอ พร้อมทั้งความเพียรปฏิบัติภาวนาไปด้วยจนมีความก้าวหน้าทั้งสองด้านยิ่งขึ้นไป

พบหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร

หลวงปู่หลวง กตปุญโญ ในสมัยนั้น พอได้คิดว่าความสงบเท่านั้นที่จะนำพาความสุขเกิดขึ้นได้ จึงได้หาโอกาสฝึกฝนนั่งสมาธิภาวนาในยามค่ำคืน โดยบางครั้งก็หลบไปนั่งตามสถานที่เงียบสงบตามป่าใกล้หมู่บ้านอยู่เสมอ ช่วงกลางวันก็กลับมาทำหน้าที่ตามปกติ จนกระทั่งใกล้วันเข้าพรรษา หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ผู้มีศักดิ์เป็นญาติกับท่านและเป็นศิษย์กรรมฐานองค์หนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทฺตตเถระ พระอาจารย์ใหญ่สายกรรมฐานในยุคนั้น ได้กลับจากธุดงค์ผ่านมาเยี่ยมบ้าน และได้พักจำพรรษาที่วัดในบ้านเกิดของท่าน คือวัดป่าหนองหญ้าปล้อง (ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดสันติสังฆาราม)

จึงเป็นโอกาสอันดี ที่จะศึกษาธรรมและขอคำแนะนำหนทางการปฏิบัติ ท่านได้ไปกราบเยี่ยมและอยู่อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่สิม อยู่หลายเดือน และได้พักจำพรรษากับท่านในปีนั้นด้วย เมื่อมีโอกาสก็ขอศึกษาอบรมกรรมฐานตลอดจนข้อวัตรปฏิบัติจากหลวงปู่สิม ซึ่งหลวงปู่สิมท่านก็ได้ทดสอบอารมณ์และจิตใจของหลวงปู่หลวงดูว่ามีความตั้งใจและเหมาะที่จะเกิดในสายทางธรรมทำกรรมฐานได้ดีเพียงไร และได้มอบอุบายธรรมตามสมควรให้ด้วยเมตตาธรรม

ภายหลังจากที่หลวงปู่สิมท่านได้ทดสอบจนเป็นที่พอใจแล้วว่า หลวงปู่หลวงมีจิตใจมั่นคงและรู้แนวทางพอที่จะเอาตัวรอดได้แล้ว พอใกล้ถึงเวลาออกพรรษา หลวงปู่สิมท่านได้ดำริว่าเมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านจะพาหลวงปู่หลวงออกเดินธุดงค์กรรมฐานสักระยะหนึ่ง เพื่อเป็นการหาประสบการณ์ โดยเลือกเอาป่าเขาภายในบริเวณจังหวัดสกลนครนั่นเอง เพราะสภาพป่าในสมัยนั้นยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก ไม่ต้องไปไกลที่ไหนก็สามารถหาที่วิเวกเพื่อพักปฏิบัติได้ง่าย โดยหลวงปู่หลวงได้กระทำตามคำแนะนำและปฏิบัติข้อวัตรยามธุดงค์อย่างเคร่งครัด

ระหว่างนี้หลวงปู่หลวงได้กำหนดจดจำแบบอย่างและปฏิปทาของครูบาอาจารย์ โดยได้สอบถามและเรียนรู้จากหลวงปู่สิมในหลายๆ เรื่อง ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาในพระปฏิบัติกรรมฐานมากขึ้น เพราะแต่เดิมทีนั้นได้เรียนรู้ในภาคทฤษฏีและเรื่องราวของพระปฏิบัติในสายกรรมฐานขากหนังสือตำราเท่าที่หาอ่านได้เท่านั้น พอได้พบและมีโอกาสออกธุดงค์ปฏิบัติร่วมกับพระกรรมฐานจริงๆ เข้า ก็ยิ่งนำพาความปลาบปลื้มปีติและตื่นเต้นเป็นล้นพ้น

หลวงปู่หลวงได้พยายามตักตวงหาความรู้ และขออุบายธรรม การปฏิบัติจากของจริง จากการปฏิบัติธุดงค์จริงๆ อย่างตั้งใจ ถึงแม้จะเป็นเพียงระยะแรกของการออกธุดงค์ ผลของการฝึกจิตยังไม่ได้ผลละเอียดดีนักก็ตาม แต่ก็เป็นแนวทางพอประคับประคองจิตให้อยู่ในความสงบได้ ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของการฝึกตนของตนเองเพื่อสร้างสมอินทรีย์ให้แก่กล้า ต้องบ่มตนเองทั้งกายและใจให้แข็งแกร่ง จะได้มีความอาจหาญที่จะสู้รบกับกิเลสทั้งหลายได้

เมื่อได้อยู่ปฏิบัติธุดงค์ร่วมกับหลวงปู่สิมนานพอสมควร หลวงปู่สิมท่านเห็นว่าสมควรปล่อยให้หลวงปู่หลวงไปหาประสบการณ์ปฏิบัติภาวนาด้วยตนเองได้แล้ว จะได้หาโอกาสพบครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ ซึ่งยังมีอีกมากที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หากเกิดติดขัดในการปฏิบัติตรงข้อใด ก็ให้ไปแสวงหาคำตอบจากครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ บ้าง ซึ่งแต่ละท่านนั้นจะมีอุบายธรรมและประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป แต่หัวใจคือข้อธรรมที่เกิดขึ้นนั้น องค์สมเด็จบรมครู คือผู้มีพระภาคเจ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้ทรงเป็นผู้ค้นพบ และวางไว้เป็นแนวทางให้ยึดปฏิบัติตาม หลวงปู่สิมท่านจึงขอปลีกตนออกแสวงหาความวิเวกตามลำพังของท่านไปเรื่อยๆ

คิดปล่อยวางภาระเพื่อการปฏิบัติ

หลังจากที่ได้แยกทางจากหลวงปู่สิม หลวงปู่หลวงก็ได้กลับไปพำนักอยู่ที่วัดเดิมคือ วัดศรีรัตนาราม ด้วยภาระหน้าที่ยังมีอยู่ จำต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก่อน ทั้งที่จิตใจนั้นยังใฝ่ที่จะหาความสุขสงบอย่างแท้จริง พระที่วัดซึ่งอยู่ด้วยกัน ก็ล้วนแล้วแต่บวชเข้ามาแล้วก็สึก ลาสิกขาออกไปตามกำหนด จะหาผู้ใดที่บวชอยู่จริงบวชยาวอยู่นานๆ ก็ไม่ได้ ที่พอจะฝากฝังภาระหรือฝึกฝนให้รับทำหน้าที่แทนก็เลยไม่มี ได้แต่ปฏิบัติภาวนาไปตามลำพังด้วยตนเองโดยไม่มีครูบาอาจารย์มาแนะนำอยู่หลายปี

จนกระทั่งวันหนึ่งหลวงปู่หลวงก็ได้มาพิจารณาว่า ตนเองนั้นก็บวชมาหลายปี ได้ยศถาบรรดาศักดิ์และตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นถึงเจ้าคณะตำบล ด้วยอายุพรรษายังไม่มาก ได้เล่าเรียนนักธรรมจนมีความรู้พอที่จะสอนคนอื่นได้ ต้องมาติดอยู่กับการทำหน้าที่อันภาระที่หนักอึ้ง บางครั้งจะหาเวลาบำเพ็ญก็หาได้ไม่เต็มที่ ไปสั่งสอนญาติโยมที่ไหน เขาก็ฟังแล้ว เดี๋ยวก็ลืม ไม่ค่อยมีใครน้อมนำเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน

วันหนึ่งๆ พวกชาวบ้านก็มักจะยุ่งกับเรื่องการทำมาหากิน ไปทำบุญหรือมีงานบุญที่ไหนก็มักจะต้องล้มวัวควายหรือฆ่าเป็ดไก่จับปูปลาเพื่อมาทำอาหารเลี้ยงดูกัน งานบุญกลับมีบาปมาปนเปื้อนด้วย อย่างนี้แล้ว ไหนล่ะจะได้บุญที่แท้จริง ไม่รู้จักการทำบุญโดยเลี่ยงบาปเลยสักผู้เดียว โอ้ ! น่าอนาถนัก พระเองก็อาจเป็นต้นเหตุ ให้เขาฆ่าสัตว์มาทำบุญ ทำอย่างไรจึงจะหนีเรื่องเหล่านี้ได้

ยิ่งเมื่อได้เป็นเจ้าคณะตำบลเป็นพระสังฆาธิการปกครองคณะสงฆ์ ก็ได้มีโอกาสรับนิมนต์ไปเทศน์หรือกิจต่างๆ ตามหมู่บ้านทั่วไป ก็ได้เห็นว่าทั้งพระและฆราวาส ต่างหลงติดยึดในธรรมเนียมการเลี้ยงดูต้อนรับอย่างผิดๆ ในงานบุญก็มีการล้มวัว ควาย หมู และฆ่าเป็ดฆ่าไก่มาทำอาหารกิน ทั้งยังมีการเลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้งกันอย่างสนุกสนาน เป็นค่านิยมที่ยึดถือตามกันมาอย่างหลงผิดและสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

ท่านรู้สึกปลงสังเวชกับความคิดและการกระทำของคนเหล่านั้น ทั้งพระเองก็ยังทำตัวเหมือนชาวบ้าน เห็นชาวบ้านเขาทำบาปแทนที่จะอบรมหรือห้ามปรามชี้แนะ กลับเห็นดี

พระอาจารย์ใหญ่ละสังขาร

ในราว พ.ศ. ๒๔๙๒ ข่าวพระอาจารย์มั่นอาพาธได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว พระกรรมฐานที่เป็นศิษย์เมื่อได้ทราบข่าวต่างพากันเดินทางมากราบเยี่ยมดูแลท่านมิขาดสาย ท่านพระอาจารย์มั่นถึงจะยิ่งใหญ่ในสายทางธรรมสักเพียงใด ท่านก็ยังไม่สามารถหลีกหนีพ้นจากกฎแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปได้ อันเป็นเรื่องธรรมดาของสังขาร

ระยะสุดท้ายของชีวิตท่าน คือตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นต้นมา ท่านพระอาจารย์มั่นได้ปักหลักพำนักอยู่เผยแผ่พระธรรมคำสอนอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านโคกและที่บ้านนามน ต.หนองโขบ อ.เมือง จ.สกลนคร รวม ๓ พรรษา จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ท่านจึงได้ย้ายมาพักอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร อีก ๕ พรรษา

จนใกล้วาระสุดท้ายแห่งชีวิต ช่วงแปดปีสุดท้ายในวัยชรานี้ ท่านพระอาจารย์มั่นได้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนบรรดาศิษยานุศิษย์เป็นประจำทุกวันอย่างปกติ จะพิเศษก็ตรงที่ใจความข้อธรรมที่ถ่ายทอดหลั่งไหลออกมานั้น จะบ่งชัดชี้แนะและมีความเข้มลึกซึ้งมากกว่าเดิม ท่านจะพูดเตือนพระเณรให้มีความตั้งใจเร่งปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะงานทางจิตภาวนาถือเป็นงานสำคัญที่ทุกคนจะต้องแก้ต้องทำ การอยู่ร่วมกันใช่ว่าจะจีรัง กายสังขารของเราก็เช่นกัน อย่าคิดว่ามันจะอยู่กับเราตลอดไป ความไม่แน่นอนนั้นเที่ยงแท้กว่าทุกสิ่ง เพราะท่านรู้ตัวเองว่ามีเวลาเหลือน้อยลงทุกวันแล้ว ทั้งยังได้เคยพยากรณ์ตนเองว่าจะมีอายุสังขารเพียง ๘๐ ปี ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ นี้ ท่านก็จะมีอายุครบ ๘๐ ปี พอดี

ท่านยังเคยได้ปรารภต่อศิษย์ที่เป็นพระผู้ใหญ่ว่า “หากท่านตายลง ณ บ้านหนองผือนี้ สัตว์ก็ต้องตายตามไม่ใช่น้อย ถ้าตายที่วัดสุทธาวาส ก็ค่อยยังชั่ว เพราะมีตลาด”

จะเห็นได้ว่าท่านพระอาจารย์มั่นได้เล็งเห็นความสำคัญของชีวิตสัตว์ ที่จะต้องมาตายเพราะถูกฆ่าเพื่อเอาเนื้อมาทำอาหารเลี้ยงดูพระและผู้คนในงานศพท่าน จึงไม่ปรารถนาให้สัตว์ในเขตบ้านหนองผือต้องตายตกไปตามกันเพราะท่านเป็นเหตุ แต่ที่วัดป่าสุทธาวาสซึ่งตั้งอยู่ในเขต อ.เมือง จ.สกลนคร นั้นอยู่ใกล้ตลาดสด มีการขายเนื้ออยู่เป็นปกติ หาซื้อได้ง่าย ไม่ต้องมีการฆ่าเพื่อเอาเนื้อมากมายนัก

ดังนั้นเมื่อท่านพระอาจารย์มั่นมีอาการอาพาธหนักคณะศิษย์จึงได้ทำการเคลื่อนย้ายสรีระสังขารท่านมาพักรักษาที่เสนาสนะป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เพราะสะดวกต่อหมอในการมาตรวจรักษาและศิษยานุศิษย์ก็มากราบเยี่ยมถวายการปรนนิบัติดูแลได้ง่าย อาการของท่านก็มีแต่ทรงกับทรุด จะสงบระงับบ้างก็เพียงชั่วคราว ได้พักรักษาท่านที่นั่นประมาณ ๑๐ วัน

ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ อาการป่วยของท่านก็เริ่มกำเริบ จึงได้จัดการเคลื่อนย้ายสังขารท่านมายังวัดป่าสุทธาวาสโดยทางรถยนต์ เพื่อเฝ้าดูอาการในระยะสุดท้าย บรรดาศิษย์ทั้งหลายต่างห่วงใยเฝ้ารอฟังอาการของท่านด้วยความสงบแต่จดจ่อ

ในที่สุดท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทฺตตเถระ พระอาจารย์ใหญ่ในสายวิปัสสนาธุระอันเป็นที่รักและเคารพยิ่งของทุกคนก็ได้ค่อยจากไปด้วยอาการสงบ ท่ามกลางหมู่ศิษย์และผู้ใกล้ชิดทั้งหลาย สิริอายุ ๘๐ ปี ตรงตามที่ท่านได้เคยกำหนดไว้ ในเวลาราว ตีสองกว่าๆ ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒ ณ วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

กำหนดการถวายพระเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่น ได้กำหนดให้มีขึ้นในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนสาม ปีขาล ในช่วงปลายเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ คณะสงฆ์ผู้ใหญ่และหมู่ศิษย์ทั้งพระภิกษุสามเณรตลอดจนฆราวาสที่เคารพนับถือท่าน จากทั่วทุกสารทิศ ทั้งใกล้ – ไกล ได้พร้อมใจกันเดินทางมาร่วมงานในวันนั้นเพื่อเป็นการแสดงความระลึกถึงพระเถระผู้ใหญ่ ผู้ซึ่งกล้าเผชิญกับความตายโดยไม่หวาดหวั่น ไม่มีอาการสะทกสะท้านเลยแม้แต่น้อย

บรรดาศิษย์ผู้มั่นคง กล้าอยู่ในธรรม ถึงจะมีความสลดสังเวชขึ้นในใจ ก็ไม่ได้แสดงออกซึ่งอาการเสียใจให้เห็นเป็นเยี่ยงอย่าง เพราะได้พิจารณาเห็นเป็นเรื่องธรรมดาของกายสังขาร ต้องมี เกิด มีแก่ มีเจ็บ และต้องตายไปในที่สุด อันเป็นวังวนของวัฏสงสาร

สำหรับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทฺตตมหาเถระผู้กล้าองค์นี้แล้ว บรรดาศิษย์ต่างเชื่อมั่นแน่ว่า ท่านพ้นแล้ว ไปดีแล้ว ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตาย – เกิด ในโลกอันวุ่นวายนี้อีกแล้ว เพราะว่าท่านสามารถตัดและสละหลุดพ้นในวัฏฏะได้เป็นที่แน่นอนแล้ว ป่วยการที่จะมัวเศร้าโศกเสียใจกับการจากไปของท่าน

แต่ก็เป็นการยากสำหรับศิษย์บางท่านบางคน เพราะได้อยู่ใกล้ชิดคอยปฏิบัติรับใช้ท่านมานาน ได้ยินได้ฟังและได้เห็นทั้งคำพูดคำสอน อันเป็นโอวาทและจริยาท่าทางการทำข้อวัตรของท่านอยู่เป็นนิจ ความผูกพันย่อมมีขึ้นได้มากอย่างสุดหัวใจ เหมือนดั่งพระอานนท์ที่คอยอยู่ถวายการรับใช้พระพุทธเจ้า ในยามที่พระพุทธองค์จะทรงละสังขาร เข้าสู่ปรินิพพานเป็นที่สุดนั้น ยังอดไม่ได้ที่จะแอบร้องไห้ด้วยความอาดูรเป็นยิ่งนัก กว่าจะรู้สึกตัวตนทำใจได้ท่านก็ต้องใช้เวลาพอสมควร

ส่วนสำหรับผู้ที่ยังทำใจไม่ได้ โดยทั่วไปก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องโศการำพัน เพราะความที่ตนยังเข้าไม่ถึงธรรม ไม่เข้าใจในธรรมนั่นเอง

ตั้งสัจจะอธิฐานต่อหน้าพ่อแม่ครูอาจารย์

พระหลวง ขนฺติพโล พรรษานั้นคงจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองหญ้าปล้องเช่นเดิม ได้เดินทางไปร่วมงานประชุมเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่นกับเขาด้วย เพราะมีความเคารพต่อท่านเหมือนประดุจดัง พ่อ – แม่ ครูอาจารย์ คือสำหรับพระป่ากรรมฐานแล้วจะพากันให้ความเคารพต่อท่านพระอาจารย์มั่นเป็นอย่างสูง ด้วยท่านเปรียบเหมือนทั้งพ่อเป็นทั้งแม่ และครูบาอาจารย์ ที่ให้กำเนิดในธรรม ท่านถ่ายทอดชี้แนะชี้นำให้ความรู้ที่จำเป็น และสำคัญทุกอย่างทุกด้าน ที่จะอยู่รอดและมีความเจริญก้าวหน้าในทางธรรมได้ และเพื่อประโยชน์สุดในทางโลกอย่างยากที่จะหาผู้ใดเทียบเท่าได้

แม้จะเพียงเคยได้รับฟังคำเทศน์คำสอนของท่านพระอาจารย์มั่นเพียงครั้งเดียว แต่หลวงปู่หลวงก็มีความซาบซึ้งอยู่ในจิตใจเป็นที่สุด เพราะท่านได้ช่วยชี้นำหนทางคือความสว่างแห่งชีวิต สู่หนทางสัจธรรมความเป็นจริง ทำให้เข้าใจและเข้าถึงธรรมขั้นสูงทั้งหลายได้ในกาลต่อมา

ณ ต่อหน้าพระศพของท่านพระอาจารย์มั่น หลวงปู่หลวงได้เข้าไปกราบสักการะเป็นครั้งสุดท้าย และตั้งสัจจะอธิฐานว่า “จะขอตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เพื่อให้ได้โลกุตรธรรม โดยในปีนี้จะขอออกเดินธุดงค์กรรมฐานปฏิบัติธรรมให้ได้ เยี่ยงผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลาย”

แปรญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

ภายหลังจากที่เสร็จสิ้นงานถวายพระเพลิงศพพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต แล้วได้ประมาณ ๑๐ วัน พระหลวง ขนฺติพโล ก็ได้เข้าไปกราบลาเจ้าคณะอำเภอ โดยให้เหตุผลว่า

“กระผมขออนุญาตไปศึกษาธรรมทางภาคเหนือ เพื่อเพิ่มพูนปัญญาในทางธรรม”

ทางเจ้าคณะอำเภอท่านก็อนุญาตแต่โดยดี

ราวต้นปี พ.ศ.๒๔๙๓ นั่นเอง หลวงปู่ก็ได้เก็บข้าวของและนำไปเฉพาะเครื่องอัฐบริขารที่จำเป็นในการธุดงค์ แล้วออกรอนแรมเดินทางมุ่งสู่ภาคเหนือ โดยตั้งใจว่าจะไปกราบหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ซึ่งได้ข่าวว่าท่านพักอยู่ที่วัดสันติธรรม ในเมืองเชียงใหม่

เมื่อไปถึง จ.เชียงใหม่และได้ไปกราบหลวงปู่สิมที่วัดสันติธรรมสมความตั้งใจแล้ว หลวงปู่หลวงก็ได้ไปกราบเรียนปรึกษาถึงเรื่องการญัตติใหม่ เพื่อเป็นพระในสังกัดธรรมยุติกนิกาย ซึ่งหลวงปู่สิมท่านเมตตาเห็นชอบด้วย อนุญาตและแนะนำให้ไปหาหลวงปู่แว่น ธนปาโล ที่วัดถ้ำพระสบาย อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เพื่อที่จะเป็นธุระแทนท่านในการนี้

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

ทางท่านหลวงปู่แว่นท่านก็ยินดี ได้จัดแจงเตรียมการเป็นธุระให้ในหลายๆ เรื่อง ส่วนตัวท่านนั้นได้ย้ายไปตระเตรียมเครื่องอัฐบริขารในการบวช ที่วัดป่าสำราญนิวาส โดยได้ทำการตัดเย็บและย้อมผ้าสบงจีวรตลอดจนสังฆาฏิด้วยตนเองจนเสร็จเรียบร้อยโดยได้มีคณะศรัทธาใน อ.เกาะคาร่วมเป็นเจ้าภาพ ได้ทำการแปรญัตติใหม่เป็นพระในสังกัดธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ณ วัดเชตวัน อ.เมือง จ.ลำปาง โดยมี

ท่านพระครูธรรมาภิวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

หลวงปู่แว่น ธนปาโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ซึ่งในขณะนั้นหลวงปู่เหรียญ กำลังสร้างวัดสันติสุขขาราม อ.เถิน จ.ลำปาง) ได้รับฉายาใหม่ว่า “กตปุญฺโญภิกขุ” มีอายุขณะนั้นได้ ๒๙ ปี เริ่มนับพรรษาใหม่ จากเดิมที่บวชเป็นพระในมหานิกายมาได้ ๘ พรรษา ในการบวชวันนั้นได้มีท่านพระอาจารย์บัวไข สนฺตจิตโต (ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดสันติสังฆาราม) มาร่วมบวชเป็นสามเณรด้วย

ธุดงค์ก็ไม่ละ การเรียนก็ไม่เว้น

หลังจากที่ได้ญัตติแล้ว พระหลวง กตปุญฺโญ ก็ได้พำนักอยู่กับหลวงปู่แว่น ที่ถ้ำพระสบาย เพื่อช่วยกิจการงานและฝึกปฏิบัติธรรมกับท่าน พอมีเวลาหลวงปู่แว่นก็ได้ชวนท่านพระอาจารย์น้อย สุภโร และพระหลวงออกเดินธุดงค์ไปในหลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น ทางจังหวัดอุตรดิตถ์ แพร่ น่าน เชียงราย และลำปาง เป็นต้น โดยถือรุกขมูลปักกลดในที่ต่างๆ เช่น ตามป่าช้าที่ห่างไกลจากหมู่บ้าน ตามถ้ำหรือเชิงผาในเขตป่าเขา ตามน้ำตก หรือแม้กระทั่ง ตามสวนผลไม้ของชาวบ้านที่สงบเงียบ แถบ อ.ลับแล เป็นต้น เพื่อแสวงหาที่เงียบๆ อันเหมาะในการบำเพ็ญสมณธรรมอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน เมื่อไม่ได้ออกธุดงค์ คือช่วงใกล้เข้าพรรษา ก็ได้กลับมาพักจำพรรษาที่วัดถ้ำพระสบาย อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ซึ่งในระหว่างนี้ก็จะใช้เวลาส่วนใหญ่ศึกษานักธรรม เล่าเรียนบาลี เพื่อที่จะได้สอบเป็นมหาเปรียญ พระหลวงกระทำเช่นนี้ตลอด ๓ พรรษาแรก แต่ไม่ได้สอบเป็นมหาเปรียญแต่สอบนักธรรมโทได้ ท่านเคยเรียนนักธรรมตั้งแต่ครั้งเป็นพระมหานิกายที่ จ.สกลนคร โดยพยายามสอบให้ได้ถึงนักธรรมเอก ไปสอบอยู่ ๓ – ๔ ปี แต่ไม่ได้เพราะไม่ค่อยมีเวลาดูหนังสือ ด้วยสมัยนั้นท่านมีกิจการงานด้านการปกครองค่อนข้างเยอะ

ท่านเล่าว่า ในสมัยที่อยู่ จ.สกลนคร โดยเฉพาะที่บ้านบัวซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน มีผู้สอบได้เปรียญมากที่สุด สูงสุดได้ถึงเปรียญ ๗ ประโยค แต่ก็อยู่เป็นพระได้ไม่นาน พากันลาสิกขากันหมด ไปมีครอบครัวบ้าง ไปรับราชการเป็นครูบ้าง เป็นตำรวจหรือตำรวจรถไฟบ้าง ฯลฯ เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันที่เคยบวชเรียนอยู่ด้วยกัน เขาสอบกันได้หมด คงมีแต่ท่านเท่านั้น ที่เรียนแล้วไม่ได้สอบ หรือสอบไม่ได้ สมัยนั้นถ้าไม่ได้นักธรรมตรี ก็จะไม่ได้สอบเป็นมหาเปรียญ ยิ่งถ้าได้นักธรรมเอก ก็มีสิทธิสอบมหาเปรียญ ๖ – ๙ ได้

จากวัดป่าสำราญนิวาสถึงวัดถ้ำพระสบาย

ขอแทรกเรื่องราวและประวัติความเป็นมาของวัดป่าสำราญนิวาส และวัดถ้ำพระสบายไว้ ณ ที่นี้สักเล็กน้อย

วัดถ้ำพระสบาย

แรกเริ่มเดิมทีในราวก่อน พ.ศ. ๒๔๘๖ อยู่หลายปี ได้มีพ่อค้าขายของคนหนึ่งชื่อว่า นายวงศ์ เป็นคนบ้านหนองแหวน ต.เกาะคา จ.ลำปาง ทำการซื้อของจากเมืองพม่าแล้วนำไปขายทางภาคอีสาน แถบ จ.นครราชสีมา เรื่อยไปจนถึงเขต จ.อุบลราชธานี จนไปมีครอบครัวอยู่ที่ อ.เขื่องใน จ.อุบลฯ จึงได้ตั้งหลักทำมาหากินอยู่ที่นั่นจนมีลูกหลานหลายคน

ขณะนั้น ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระและพระอาจารย์ เสาร์ กนฺตสีโล เป็นพระนักปฏิบัติที่มีชื่อเสียงมากในเขต จ.อุบลฯ สกลนคร และหลายจังหวัดด้านอีสานติดริมแม่น้ำโขง มีผู้คนจำนวนมากเคารพนับถือทั้งสององค์ ทั้งพระภิกษุ – สามเณร และฆราวาส ต่างพากันสนใจติดตามไปฟังธรรมจนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาไปตามๆ กัน

นายวงศ์ในขณะนั้น มีครอบครัวอยู่ที่ จ.อุบลฯ เป็นผู้ที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนามากคนหนึ่งเช่นกัน เมื่อได้ยินข่าวว่าพระอาจารย์ทั้งสองได้ธุดงค์กรรมฐานไปยังสถานที่ใกล้ๆ บ้าน ก็ได้หาโอกาสเข้าไปกราบและฟังธรรมด้วยพร้อมด้วยชาวบ้านจำนวนหนึ่ง

เมื่อได้ยินได้ฟังข้อธรรมคำสอนที่ท่านพระอาจารย์ทั้งสองได้ร่วมกันแสดงและตอบปัญหาธรรม ต่างก็รู้สึกกินใจและซาบซึ้งโดยเฉพาะนายวงศ์ได้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาขึ้นมาอย่างมาก ถึงกับคิดจะละวางภาระทางครอบครัว ออกบวชปฏิบัติติดตามพระอาจารย์ทั้งสองไปด้วย ได้บอกลาขออนุญาตลูกเมียเพื่อออกบวช ทางครอบครัวก็ไม่ขัดข้องแต่ประการใด จึงได้มาบวชปฏิบัติอยู่กับท่านพระอาจารย์เสาร์ ที่วัดเลียบ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลฯ ได้ฉายานามว่า “ขนฺติสาโรภิกขุ”

ครั้นอยู่มาได้ ๔ พรรษา หลวงพ่อวงศ์ได้รำลึกคุณของบิดา – มารดาที่ตายไปแล้ว เกิดความปรารถนาที่จะทำบุญอุทิศให้แก่ท่านทั้งสอง หลวงพ่อวงศ์จึงได้ลาครูบาอาจารย์เดินทางกลับมา จ.ลำปาง ยังบ้านเกิด ถิ่นปิตุภูมิ-มาตุภูมิที่บ้านหนองแหวน ได้มาพักรุกขมูลอยู่ใกล้กับโรงงานน้ำตาลไทยและวัดไร่อ้อย

เมื่อชาวบ้านคณะศรัทธาที่อยู่ที่โรงน้ำตาลได้เห็นมีพระธุดงค์มาปักกลดพักอยู่ ณ ที่นั้น จึงได้มาสนทนาด้วย จนเกิดความเลื่อมใสในตัวหลวงพ่อวงศ์ ด้วยเห็นว่าท่านเป็นคนบ้านเดียวกัน คือเป็นคนถิ่นเหนือ เมืองลำปางเช่นเดียวกัน จึงได้ช่วยบำรุงอุปัฏฐากเป็นประจำโดยนิมนต์ให้พักอยู่ที่ตรงใต้ต้นฉำฉา (จามจุรี) ใกล้กับโรงน้ำตาล (ทางด้านทิศใต้ของวัดป่าสำราญนิวาสปัจจุบันนี้)

พอออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ แล้ว หลวงพ่อวงศ์ท่านจะออกเดินธุดงค์กรรมฐานต่อไป แต่คณะศรัทธาในโรงน้ำตาลเกิดมีศรัทธาแก่กล้าที่จะสร้างวัดถวาย เพื่อที่จะได้มีวัดฝ่ายปฏิบัติสักแห่งเกิดมีขึ้นในเมืองลำปางนี้ จึงได้นิมนต์ให้หลวงพ่อวงศ์ ช่วยเป็นประธานในการสร้างวัดนี้ แต่ทางหลวงพ่อวงศ์ได้ปฏิเสธไปโดยบอกว่า

“ท่านเป็นพระบวชเมื่อแก่ ไม่มีวาสนาบารมีพอที่จะสร้างวัดวาอารามขึ้นมาได้ หากพวกญาติโยมต้องการจะสร้างวัดขึ้นมาจริงๆ ก็ให้ไปนิมนต์พระที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ซึ่งอยู่ที่วัดป่าโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โน่นเถอะ”

ขณะเดียวกันหลวงปู่แว่น ธนปาโล ซึ่งในพรรษานั้นได้จำพรรษาร่วมกับหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ที่วัดป่าโรงธรรมสามัคคี ในช่วงกลางพรรษาหลวงปู่แว่นได้ตั้งสัจจะอธิฐานขึ้นว่า

“ในภาคเหนือนี้จะมีที่ใดหนออันจะเป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ท่านจะได้ทำให้เกิดมีขึ้นสักแห่งหนึ่ง”

ตรงตามนิมิต

หลวงปู่แว่น ธนปาโล

วัดถ้ำพระสบาย จ.ลำปาง

หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันหลวงปู่แว่น ท่านก็ได้นิมิต ฝันไปว่า ได้เหาะลอยขึ้นไปในอากาศ สูงจากพื้นดินราว ๗ ชั่วตำบล แล้วลอยมาทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ จนกระทั่งถึงเมืองลำปาง ก็ปรากฏเห็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ ได้หมุนลื่นๆ ดังลั่นอยู่เหนือพื้นดินที่แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของเมืองลำปาง (ซึ่งก็คือบริเวณโรงน้ำตาลที่ อ.เกาะคา ทางทิศตะวันตกของวัดป่าสำราญนิวาสในปัจจุบัน)

ครั้นพอออกพรรษา ทางหมู่คณะศรัทธาโรงงานน้ำตาลที่ อ.เกาะคา ก็ได้ให้พ่อหนานแก้ว อินต๊ะเทพ เป็นตัวแทนหมู่คณะ เดินทางมาตามคำบอกของหลวงพ่อวงศ์ มายังวัดป่าโรงธรรมสามัคคี เพื่อมากราบหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ขอให้ส่งศิษย์ที่สมควรไปช่วยเป็นประธานสร้างวัดกรรมฐานที่ จ.ลำปาง ซึ่งพวกเขาได้บริจาคที่ดินและหาปัจจัยมาช่วยกันสร้างเป็นวัดสำหรับพระในสายปฏิบัติขึ้นมาใหม่

หลวงปู่สิมท่านได้พิจารณาเห็นสมควรว่า หลวงปู่แว่นเป็นพระต้องไปทำหน้าที่นี้ เพราะเป็นงานของท่านโดยเฉพาะที่จะไปช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ พื้นที่ตรงนั้น จึงได้อนุญาตและมอบหมายภาระหน้าที่ในการนี้แก่หลวงปู่แว่น ตามเจตนาศรัทธาของชาวบ้าน คณะศรัทธาชาวบ้าน อ.เกาะคา ทั้งหลายจึงพากันยินดีเป็นอย่างมาก ได้นิมนต์หลวงปู่แว่นให้เดินทางมายัง อ.เกาะคา แล้วจัดการปลูกเพิงที่พักให้ชั่วคราว หลวงปู่แว่นเมื่อเดินทางไปถึงที่นั่น ก็พิจารณาเห็นว่าตรงตามนิมิตที่เคยปรากฏมาก่อนสถานที่แห่งนี้ คงเป็นจุดสำคัญสำหรับท่านในการทำงานช่วยเผยแผ่พระธรรมตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา

โดยเฉพาะในสายทางปฏิบัติพระกรรมฐาน เพราะส่วนใหญ่แล้ว ณ ที่อื่นๆ ที่มีพระกรรมฐานไปเผยแผ่ เป็นผู้นำศรัทธาญาติโยมให้รู้จักการปฏิบัติภาวนา ก็มักจะได้รับการต่อต้านและเป็นที่ไม่พอใจของผู้ที่อยู่เดิม เพราะความไม่เข้าใจของพระและชาวบ้านที่เกรงกลัวและไม่รู้จักพระกรรมฐาน มักถูกกลั่นแกล้งอยู่บ่อยๆ จนต้องใช้ความมานะอดทนและเวลา เพื่อที่จะเอาชนะจิตใจของบรรดาบุคคลเหล่านั้นแจนกว่าจะเป็นที่ยอมรับของพระสงฆ์และชาวบ้านในท้องถิ่นเดิม เรื่องเช่นนี้มักมีเกิดขึ้นบ่อยและทั่วไป

ก่อนหน้านี้หลวงปู่แว่นท่านก็ได้เคยไปดูสถานที่หลายแห่งในหลายท้องที่หลายจังหวัด แต่ก็ไม่พบที่ถูกใจ บางแห่งถูกใจแต่ทางพระท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นมหานิกายไม่ยอมรับ ได้พากันขับไล่ไม่ให้อยู่ หลวงปู่แว่นท่านจึงได้ตั้งสัจจะอธิฐาน ขอให้เกิดนิมิตให้ได้รู้ว่า ที่ใดจะเป็นสถานที่ที่ท่านจะไปทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา

นับว่าเป็นนิมิตที่ดีที่ชาวบ้าน อ.เกาะคาส่วนใหญ่ รู้จักและเข้าใจในพระกรรมฐาน จนมีศรัทธาที่จะสร้างวัดสำหรับพระปฏิบัติวิปัสสนาให้ได้มีที่เจริญภาวนาและเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน และโชคดีที่ได้มีผู้มีจิตศรัทธาแก่กล้า ถวายที่ดินเพื่อสร้างวัด คืออาจารย์ย้อย ผลไพโรจน์ ที่ทำงานเป็นผู้จัดการโรงงานน้ำตาลไทยในเกาะคา ได้ถวายที่ดินในเบื้องต้น ๒๐ ไร่ หลวงปู่แว่นท่านก็เห็นสมควรว่ามีพื้นที่พอที่จะสร้างขึ้นเป็นวัดได้ จึงได้ร่วมกับหลวงพ่อวงศ์ ช่วยกันสร้างขึ้นมาเป็นสำนักวัดป่า ในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๐ นั่นเอง และต่อมาคุณยายผูก รอนไพลิน ก็ได้ถวายที่ดินเพิ่มอีก ๕ ไร่ ทำให้พื้นที่ของวัดได้ขยายเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอีกหลายเท่า ต่อมาก็มีโยมกิมเฮง วิศยางกูร ได้ถวายที่ดินเพิ่มเติมอีกจำนวน ๔ ไร่ และนายเพิ่ม ชูเชาว์ ได้ถวายเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง

“วัดป่าเรไร” เป็นชื่อวัดชื่อแรกที่หลวงปู่แว่นได้ตั้งไว้ โดยได้เขียนป้ายติดไว้ที่ประตูทางเข้าเลย แต่ศรัทธาญาติโยมชาวบ้านส่วนมากจะเรียกว่า “วัดโรงน้ำตาล หรือ วัดแพะ” (แพะเป็นภาษาภาคเหนือ แปลว่าป่า)

พระประธานองค์แรกของวัดป่าเรไรชื่อ “หลวงพ่อพุทธภัยชัยราชศาสดา” โดยมีประวัติความเป็นมาคือ โยมกิมเฮง วิศยางกูร เดินทางด้วยเท้าจากตลาดเกาะคาไปพร้อมกับลูกสาว เพื่อไปกราบขอพระประธานจากพระครูธรรมสุนทร ที่บ้านหนองหล่าย จ.ลำปาง เมื่อคราวที่ท่านกลับมาเยี่ยมบ้านเกิด แต่ที่จริงแล้วพระครูธรรมสุนทร เป็นพระอยู่ที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ โดยท่านบอกว่าที่วัดบรมนิวาส มีพระประธานอยู่องค์หนึ่ง แต่ท่านไม่ยอมไปไหน มีผู้มาขอหลายราย แต่อัญเชิญไปไม่ได้ เพราะจะเกิดอุปสรรคทุกครั้ง ถ้าทาง “วัดป่าเรไร” อยากได้ก็ไม่ขัดข้อง

ดังนั้นหลวงปู่แว่นจึงได้ให้โยมกิมเฮงเดินทางไปกรุงเทพฯ และให้ตั้งจิตอธิฐานขอกับเทวดาอารักษ์ แล้วอัญเชิญกลับมาที่จังหวัดลำปาง พร้อมกันนั้นได้ประชุมกับศรัทธา ขอเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ โดยมี “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์” (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ได้มาเมตตาประทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสำราญนิวาส” พร้อมกันนั้นท่านก็ได้ตั้งชื่อพระประธานประจำวัดว่า “หลวงพ่อพุทธภัยชัยราชศาสดา” สิ่งที่น่าอัศจรรย์ก็คือการอัญเชิญพระประธานมาได้ตลอดรอดฝั่ง โดยปลอดภัยและสวัสดิภาพ โดยที่ไม่มีอุปสรรคใดๆ เลย โดยมาทางรถไฟ

ในกาลเวลาต่อมา ก็ได้มีศรัทธาเจ้าแม่บัวหอม อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นกำลังสำคัญในการรวบรวมปัจจัยจากศรัทธาที่ต่างๆ มา สร้างพระอุโบสถและพระเจดีย์ให้สำเร็จเรียบร้อยด้วยดี ตลอดทั้งยังมีญาติโยมที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วยทำนุบำรุงให้วัดมีความเจริญรุ่งเรืองอีกหลายคน เช่น คุณแม่โค้ว พรมพันธ์ และคุณแม่แสง เป็นต้น

วัดป่าสำราญนิวาสเป็นวัดโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๓ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ หลังจากนั้นจึงค่อยพัฒนารุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ โดยมีหลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ เป็นประธานรับช่วงในการปกครองดูแลวัดสืบต่อมาจากหลวงปู่แว่น ธนปาโล

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

เมื่อวัดป่าสำราญนิวาสได้สำเร็จพอเป็นรูปร่างได้ใหม่ๆ นั้น ได้มีครูบาอาจารย์ในสายกรรมฐานที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใสมาพำนักอยู่เสมอ อาทิเช่น หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม, หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี, หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ, หลวงปู่บุญจันทร์ จนฺทวโร, และท่านพ่อลี ธมฺมธโร เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านพ่อลี ธมฺมธโร จะมีความเกี่ยวข้องกับวัดป่าสำราญนิวาสมากพอสมควร เพราะระหว่างที่หลวงปู่แว่น ธนปาโล ท่านไปริเริ่มสร้างวัดถ้ำพระสบายในเขต อ.แม่ทะ จ.ลำปาง โดยมีหลวงปู่หลวงหรือพระหลวงในขณะนั้นไปช่วยในการก่อสร้างด้วย ท่านพ่อลีก็มักจะเดินทางมาพักและมีส่วนร่วมในการก่อสร้างวัดถ้ำพระสบายในช่วงแรกๆ ด้วย ท่านพ่อลีได้แวะเวียนมาเทศน์โปรดชาวเกาะคาเสมอ จนเป็นที่เคารพรักและรู้จักกันของศรัทธาชาวบ้านเกาะคาทุกคน

เหตุแห่งนิมิต

หลวงปู่แว่น ธนปาโล ได้อยู่พักจำพรรษาที่วัดป่าสำราญนิวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ได้นำพาชาวบ้านและศรัทธาทั้งใกล้ไกลช่วยกันสร้างและพัฒนาสำนักวัดป่าจนเป็นวัดโดยสมบูรณ์ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๖ รวมเป็นเวลา ๖ พรรษา ก็พอดีทางโยมแม่ของท่านได้ขอร้องให้หลวงปู่แว่นกลับไปจำพรรษาที่บ้านเกิด คือใน จ.สกลนคร ซึ่งตรงกับนิมิตที่ท่านได้ทราบล่วงหน้าว่า จะมีญาติโยมทางเมืองสกลนครมานิมนต์ให้ท่านกลับไป ท่านจึงได้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร ซึ่งพอดีตำแหน่งเจ้าอาวาสได้ว่างลง

ในช่วงที่หลวงปู่แว่นจำพรรษาที่วัดป่าสำราญนิวาสนี้เองประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านได้นิมิตฝันบ่อยครั้งว่า ได้ไปเที่ยวจนถึงดอยแห่งหนึ่งในกลางป่า หนทางที่ไปก็ต้องข้ามน้ำไป แล้วเดินขึ้นดอยไป พอถึงดอยก็ได้พบว่ามีถ้ำอยู่หลายแห่ง ทั้งถ้ำเล็กและถ้ำใหญ่ ดอยแห่งนี้ท่านได้ไปเห็นในนิมิตอยู่หลายครั้ง บางคืนก็ฝันว่า ได้เหาะลอยไปจนถึงดอยนั้น โดยห่มผ้าจีวรติดตัวไปหลายผืน พอไปถึงดอยนั้นและลอยลงเดินยังพื้นดิน ก็ได้มีพระเณรหลายองค์มาขอเปลื้องสบงจีวรและสังฆาฏิจากตัวท่านไปจนหมด ทั้งในบริเวณนั้นยังมีคนหนุ่มสาวพากันเดินไปเป็นหมู่ๆ ท่านก็ได้แต่สงสัยในนิมิตว่า คงจะมีความหมายอะไรสักอย่าง

ระหว่างที่กำลังสร้างวัดป่าสำราญนิวาสยังไม่เสร็จนั้น บางคราวศรัทธาญาติโยมทางเชียงใหม่ ก็ได้นิมนต์ให้หลวงปู่แว่นไปโปรดพวกเขาบ้าง เพราะยังมีความเคารพและศรัทธาในตัวท่านเสมอ หลวงปู่จึงต้องเดินทางไปพักค้างยังเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งคราว โดยไปพักที่วัดเจดีย์หลวงบ้างหรือไม่ก็วัดป่าโรงธรรมสามัคคี

คืนวันหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่สิมและหลวงปู่แว่นท่านพากันนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมตามปกติ ทั้งสององค์ก็ได้พบกับดวงจิตวิญญาณของเจ้าแม่ทิพย์วรรณ ณ เชียงตุง (ซึ่งเคยเป็นโยมอุปัฏฐากที่เชียงใหม่ แต่ได้สิ้นบุญเสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นเล็กน้อย) ได้มายืนร้องเรียกขออาราธนาอยู่ตรงลานหน้าพระเจดีย์ในเขตวัดเจดีย์หลวงว่า

ดิฉันต้องการพระที่นุ่งผ้าดำนะ พระที่นุ่งผ้าเหลืองไม่เอา ขอให้ช่วยไปโปรดที่ถ้ำแกเก๊าด้วย”

ตามความหมายก็คือ วิญญาณเจ้าแม่ต้องการนิมนต์ให้พระกรรมฐานไปโปรดพวกเขาที่ถ้ำแกเก๊าหรือถ้ำพระสบายในปัจจุบัน แต่ไม่ต้องการพระมหานิกายซึ่งนุ่งห่มสีเหลือง (ตอนนั้นหลวงปู่แว่นท่านนุ่งห่มผ้าสีกรักแก่ออกดำ)

หลวงปู่แว่นจึงได้กราบเรียนปรึกษากับหลวงปู่สิม ซึ่งหลวงปู่สิมท่านก็รับรองเรื่องนิมิตนั้นโดยบอกว่า “ดีละ นิมนต์เถอะ” เพราะท่านก็ได้นิมิตอย่างเดียวกัน หลวงปู่แว่นท่านก็ไม่รอช้ารีบลุกขึ้นไปประกาศที่กลางลานในทันทีว่า นี่เจ้าแม่ วันที่ ๑๔ ให้ไปรับพระที่วัดสันติธรรมเน้อ” พอประกาศเสร็จท่านก็กลับไปนั่งภาวนาต่อ

ก่อนถึงวันนัด หลวงปู่แว่นได้กลับไปพักอยู่ที่วัดป่าโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง พวกชาวบ้าน อ.สันกำแพง พอได้รู้เรื่องขึ้นว่าหลวงปู่แว่นจะไม่อยู่ อ.สันกำแพงแล้ว โดยจะย้ายไปอยู่ที่ถ้ำแกเก๊า บ้านแม่หนองหาร อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ก็เกิดความรู้สึกไม่อยากให้ท่านไป ทั้งที่ตอนนั้นหลวงปู่แว่นท่านมีภาระในเรื่องการสร้างวัดป่าสำราญนิวาสที่ อ.เกาะคา จ.ลำปาง อยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ไม่อยากให้ท่านละจากไป รถทุกคันใน อ.สันกำแพง ทั้งรถเล็กรถใหญ่ และแม้กระทั่งรถเครื่องหรือรถจักรยานยนต์ จึงถูกสั่งห้ามไม่ให้ไปรับและไปส่งหลวงปู่แว่นเป็นอันขาด จะไม่ยอมให้ท่านไปจาก อ.สันกำแพง

แต่แล้วอาจจะเป็นเพราะแรงสัจจะอธิฐาน ของหลวงปู่แว่น ที่ได้ตั้งใจไว้แล้วประการหนึ่ง และแรงบุญวาสนาของเจ้าแม่ทิพย์วรรณอีกประการหนึ่ง ทำให้หลวงปู่แว่นได้เดินทางไป จ.ลำปาง ในวันนั้นจนได้ กล่าวคือในตอนสายวันนี้ เจ้าชื่นทิพย์ซึ่งอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ได้ขับรถไปกราบมนัสการหลวงปู่แว่นที่วัด ตั้งใจว่าจะรับท่านไปบ้านฝรั่งที่เป็นเพื่อนกันในเมืองเชียงใหม่

พอไปถึงหลวงปู่แว่นท่านก็รู้ในทันทีว่า นี่คงเป็นคนที่เจ้าแม่ส่งมานั่นเอง เพราะก่อนหน้านี้หนึ่งวัน ท่านได้ประกาศไว้แล้วว่า “พรุ่งนี้ถ้าใครมาก่อนก็รับตัวไปได้ก่อน ท่านจะไปกับคนนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้หลวงปู่แว่นก็เลยขึ้นรถเจ้าชื่นทิพย์ออกจากวัดไป โดยท่านขอให้ช่วยไปส่งท่านที่ จ.ลำปางด้วย

สำรวจถ้ำแกเก๊า

เมื่อหลวงปู่แว่นเดินทางมาถึง จ.ลำปาง ท่านก็ได้กลับไปดูแลและจำพรรษาวัดป่าสำราญนิวาสอีกระยะหนึ่ง ครั้นพอพรรษาพวกศรัทธาบ้านนาคต อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ก็ได้มานิมนต์ให้หลวงปู่แว่นไปรับกฐิน เมื่อเสร็จธุระจากงานกฐินแล้ว ท่านก็ได้เดินทางมากับพระอาจารย์ฝั่น ปาเรสโก มาพักในป่าที่ใกล้บ้านนาตม ตกกลางคืน ก็ได้มีชาวบ้านมาขอฟังธรรมและฝึกนั่งสมาธิภาวนากับท่านมากในแต่ละคืนหลวงปู่แว่นได้ปรารภกับชาวบ้านถึงเรื่องถ้ำต่างๆ บนดอยแถวนี้ ซึ่งก็ได้ทราบว่านอกจากจะมีถ้ำแกเก๊าอันเป็นถ้ำใหญ่แล้วก็ยังมีถ้ำใหญ่น้อยอื่นๆ อีกหลายถ้ำ จึงขอให้ชาวบ้านที่รู้จักทางพาไปดู

ก็ได้พ่อคำน้อย, พ่อหนานกันทะ, พ่อน้อยจู, กำนันมูลและชาวบ้านติดตามอีกหลายคน ช่วยนำทางพาท่านไปสำรวจดอยแห่งนั้น หลวงปู่แว่นท่านได้สำรวจสถานที่โดยรอบ ได้พบว่ามีถ้ำต่างๆ อยู่หลายถ้ำ ทั้งยังเหมาะแก่การภาวนาอีกด้วยเพราะมีความสงัดวิเวกดี จึงได้พิจารณาที่จะปรับปรุงขึ้นเป็นที่พักสงฆ์ ซึ่งสถานที่ตั้งก็ไม่อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านรอบๆ นัก คือประมาณ ๓ กม.เศษ พอที่จะเดินบิณฑบาตหาศรัทธาหน้าบุญตามหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ ได้เช่น หมู่บ้านเหล่านาตม บ้านฮ่อม บ้านหนองถ้อย

คณะศรัทธาผู้ติดตามจึงได้ช่วยกันตระเตรียมสร้างที่พักขึ้นอย่างง่ายๆ พออาศัยค้างคืนได้ วันนั้นจึงเป็นวันแรกที่หลวงปู่แว่นได้มาพำนักที่ถ้ำแห่งนี้ ตรงกับวันพุธที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนเกี๋ยงเหนือ ๑ ใต้ ปีชวด ณ ถ้ำแม่ชุม เป็นแห่งแรก

ในคืนต่อๆ มาก็ได้เปลี่ยนมาพักที่ถ้ำแกเก๊าเป็นส่วนใหญ่ จนได้ติดป้ายชื่อที่หน้าถ้ำว่า ถ้ำสบาย ระหว่างที่กำลังปรับปรุงถ้ำแห่งนี้ หลวงปู่แว่นก็ต้องกลับมาดูแลวัดป่าสำราญนิวาสด้วยจึงต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างสถานที่ทั้งสองอยู่บ่อยๆ หนทางไป – มา ก็ยังไม่สะดวกต้องเดินทางด้วยเท้าเป็นระยะทางกว่ายี่สิบ กม. ในครั้งนั้นพระหลวง กตปุญฺโญ ก็ได้ไปอยู่ช่วยปรับปรุงสร้างที่พักสงฆ์ด้วย ได้อยู่ช่วยงานอย่างเต็มกำลัง

ระยะแรกที่ไปอยู่นั้น ทั้งพระเณรต้องทนลำบากมาก ทั้งปัญหาเรื่องน้ำที่ขาดแคลน ต้องหาบน้ำเดินขึ้นเขาด้วยระยะทางกว่า ๓ กม. ในบางครั้งก็ต้องต่อสู้กับพวกเจ้าที่เจ้าทางเจ้าถ้ำ อันเป็นพวกเทพเทวาอารักษ์ที่อยู่เฝ้ารักษา พวกเขาเข้าใจว่าหลวงปู่แว่นท่านจะไปเปิดเอาขุมสมบัติที่พวกเขาเฝ้ารักษา เพราะหลวงปู่แว่นท่านไปอยู่ที่แรกไม่ได้บอกกล่าวให้พวกเขารับรู้ เขาจึงหวงแหนในสมบัติอันเป็นพวกของโบราณวัตถุที่มีค่า จนในที่สุดหลวงปู่แว่นและคณะต้องทำการแผ่เมตตาให้และบอกกล่าวว่าท่านจะมาตกแต่งถ้ำสร้างที่บำเพ็ญธรรม เรื่องทั้งหลายจึงค่อยสงบลงได้

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ได้เดินทางจากวัดสันติธรรมเพื่อมาเยี่ยมหลวงปู่แว่นที่ถ้ำสบาย พอเจอหน้ากันหลวงปู่ท่านก็ยิ้มและทักขึ้นว่า

“ยังไงปักธงหลอกใครละ”

พูดพลางท่านก็หันไปมองป้ายชื่อถ้ำแล้วหัวเราะ จากนั้นก็หันมาถามหลวงปู่แว่นว่า

“ที่ว่าสบายนะ ใครสบาย”

หลวงปู่แว่นท่านก็หัวเราะอย่างรู้ทีแล้วตอบไปว่า

“ก็พระนะสิสบาย”

หลวงปู่สิมท่านก็ว่า

พระสบายก็บอกว่าพระสบายซี

ดังนั้นเองหลวงปู่แว่นท่านจึงได้เปลี่ยนชื่อถ้ำเสียใหม่ว่า “ถ้ำพระสบาย” ตั้งแต่นั้นมา

แต่ในเรื่องชื่อถ้ำนี้ หลวงปู่หลวงท่านได้เล่าให้ฟังอย่างขันๆ ในภายหลังว่า น่าจะชื่อ ถ้ำพระจะตาย ละไม่ว่า เพราะความเป็นอยู่ในช่วงแรกๆ นั้นค่อนข้างลำบากมาก ทั้งพระ ทั้งเณร เพราะเรื่องน้ำกินน้ำใช้ที่ขาดแคลน น้ำที่จะสรงก็ไม่พอเพียง เนื่องจากที่ตั้งอยู่บนดอย ต้องหาบน้ำจากตีนดอยขึ้นมาใช้ตั้งไกล จากแม่น้ำจางซึ่งอยู่ห่างวัดไปเกือบ ๓ กม. โดยพากระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่ไปแล้วตักน้ำใส่จนเต็ม จากนั้นก็ต้องพากันหาบกลับถ้ำ บางคราวในหน้าฝน ขณะที่กำลังทำวัตรสวดมนต์กันอยู่ ฝนเกิดตกลงมาก็ต้องพากันพักสวดมนต์ชั่วขณะแล้วพากันวิ่งไปช่วยกันรองน้ำฝนไว้ใช้ และสรงน้ำกันเสร็จแล้วจึงมานั่งทำวัตรต่อ ชุลมุนไปหมด

หนทางจากดอย มาบิณฑบาตที่หมู่บ้านก็ขรุขระเพราะเป็นทางควายเดิน คนก็ต้องใช้เดินด้วย ในหน้าฝน ทางทั้งลื่นและแฉะเป็นร่องหลุม เพราะรอยตีนควาย เดินลำบากยากเย็นเอามากๆ มักจะเดินตกหลุมควายของชาวบ้านกันแทบทุกวัน จนแข้งขาเลอะเปรอะเปื้อนด้วยขี้โคลน ทั้งสบงจีวรก็เลอะด้วย ต้องกลับมาซักที่หน้าถ้ำทุกวัน

มันลำบากก็รู้อยู่ ทุกข์ก็รู้อยู่ แต่เราเป็นพระเป็นนักบวชที่หวังในสติปัญญาธรรม เราต้องทนได้เสมอ เป็นผู้ปฏิบัติต้องเอาดีให้ได้ ไม่มีการท้อถอย ถ้าท้อถอย ไม่อดทนกับความทุกข์ ก็ไม่เห็นทุกข์ที่แท้จริง เสียเวลาบวชก็ตายเปล่า เกิดมาเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์”

หลวงปู่หลวง ท่านว่าอย่างนั้น

ที่ถ้ำพระสบายนี้ต่อมาได้กลายเป็นสถานที่สำคัญ ที่มักจะมีครูบาอาจารย์ในสายกรรมฐานซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ ผลัดกันมาแวะเวียนมาพำนักปฏิบัติธรรมทำความเพียรกันอยู่บ่อยๆ หลายองค์ด้วยกัน ด้วยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ภาวนาดี บางรูปอย่างหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ท่านยังได้เคยมาจำพรรษาอยู่ที่นี่ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นต้น

หลวงปู่แว่นได้อยู่จำพรรษาที่ถ้ำพระสบายได้ ๖ พรรษาก็มีความจำเป็นต้องกลับไปเป็นเจ้าอาวาสที่บ้านเกิด คือเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร ได้อีก ๖ พรรษา แล้วจึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดถ้ำพระสบายอีกในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่ออายุท่านได้ ๕๐ ปี พรรษาที่ ๓๐ พอดี

พอออกพรรษาท่านก็ได้รับนิมนต์จากศรัทธาชาวบ้านทาง จ.สกลนคร ให้กลับไปรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาสอีกครั้งและเป็นเจ้าคณะอำเภอด้วย จำพรรษาอยู่ที่ จ.สกลนครอีก ๗ พรรษา พอถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พรรษาที่ ๔๕ หลวงปู่แว่นท่านก็ได้กลับมาจำพรรษาที่วัดถ้ำพระสบายอีกวาระหนึ่งในช่วงปัจฉิมวัย และพักอยู่ที่นั่นตลอดมาจนกาลเวลาสุดท้ายแห่งชีวิต ผลงานสุดท้ายที่ท่านได้ฝากไว้ก็คือ ได้แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำโดยการขุดเจาะน้ำบาดาลสองแห่ง สร้างกุฏิและเสนาสนะขึ้นใหม่จนพอเพียง อุโบสถหลังใหญ่ที่มีหลังคาราบรูปทรงแปลกตา เบื้องบนมีพระเจดีย์เก้ายอดดูเป็นศรีสง่า ที่คงค้างอยู่ก็มีกุฏิของท่านเองหลังใหม่ใหญ่กว่าเดิมสูง ๓ ชั้น เพื่อรองรับอาคันตุกะและคณะญาติโยมได้มาพักแต่ยังมิทันสร้างเสร็จท่านก็มาละสังขารไปเสียก่อน

วัดถ้ำพระสบายได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวัดโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗ หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ รับภาระเป็นประธานสงฆ์คอยดูแลแทน


เมื่อเราคิดถึงท่าน ท่านก็จะมาอยู่ในใจเรา เมื่อใดที่เรามีทุกข์ร้อนใจ เพียงระลึกถึงคำสอนของท่าน ท่านก็จะมาอยู่ข้างเรา…..”

พลศรีทอง พระเครื่อง

พลศรีทอง พระเครื่อง โดย บู เชียงราย

. https://ponsrithong.com/

web (main) พระเครื่อง  : บู เชียงราย ร้านพลศรีทอง พระเครื่อง

Web ( มุมพระ) : มุมพระ
https://www.mumpra.com/shop.php?shopid=507
web (99wat) : 99วัด
http://www.ponsrithong.99wat.com/
web palana : พระล้านนา.คอม
http://www.pralanna.com/ponsrithong
Facebook เพจพลศรีทอง พระเครื่อง บู เชียงราย
https://www.facebook.com/ponsrithong/
IG :https://www.instagram.com/bu_chiangrai.amulet/

Loading

Reviews

There are no reviews yet.

Be the first to review “พระกริ่ง เนื้อนวโลหะ (แซยิด) หลวงปู่หลวง กตปุญโญ วัดคีรีสุบรรพต ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง”

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Shopping Cart