พระกริ่งอุตตมปัญโญ หลวงพ่ออุดม วัดพิชัยสงคราม รุ่นแรก ปี ๒๕๕๒ นวะโลหะ
วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2552 หลวงพ่ออุดม อุตตมปัญโญ วัดพิชัยสงคราม ได้เป็นประธานเททองและนั่งบริกรรมภาวนาตลอดการเททอง มีการจัดสร้างทั้งสิ้น 1450 องค์ แบ่งเป็น
– พระกริ่งเนื้อนวะโลหะพิเศษ หล่อดินไทย จำนวน 50 องค์
– พระกริ่งเนื้อนวะโลหะ หล่อดินปูน จำนวน 700 องค์
– พระชัยวัฒน์เนื้อนวะโลหะพิเศษ หล่อดินไทย จำนวน 700 องค์
พระกริ่งและพระชัยวัฒน์ อุตตมปัญโญ เป็นพระเนื้อนวะโลหะที่มีการจัดสร้าง สมบูรณ์และครบถ้วนตามตำราการสร้างพระกริ่งสำนักวัดสุทัศนเทพวราราม ของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เช่นการใช่โลหะบริสุทธิ์ ๙ ชนิด
– ชิน หนัก ๑ บาท
– เจ้าน้ำเงิน หนัก ๒ บาท
– เหล็กละลายตัว หนัก ๓ บาท
– บริสุทธิ์ หนัก ๔ บาท
– ปรอท หนัก ๕ บาท
– สังกะสี หนัก ๖ บาท
– ทองแดง หนัก ๗ บาท
– เงิน หนัก ๘ บาท
– ทองคำ หนัก ๙ บาท
นำโลหะทั้งเก้ามาหลอมรวมกันแล้วจึงเติมทองแดงลงไปอีก ๑ กิโลกรัม จากนั้นจึงทำเป็นแผ่น ลงยันต์และอักขรวิเศษตามตำราการสร้างพระกริ่ง พระชัยวัฒน์
สุดยอดเกจิเมืองกรุงเก่าอีกท่าน หลวงพ่อวัดพิชัยสงคราม ท่านเป็นผู้สืบทอสำนักวัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งเป็นสำนักวิชาอาคมเก่าแก่ ตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมาแล้ว และท่านก็ได้ศึกษามาจนเชี่ยวชาญ สามารถสร้างของได้ตามตำรับตำรา และปลุกเสกได้เข้มขลังยิ่งนัก
ที่เห็นเป็นพระกริ่ง รุ่นแรก สร้างในไตรมาสปี ๒๕๕๒ เป็นวัตถุมงคลอีกรุ่น ที่มีคุณวิเศษมากมาย พระกริ่งรุ่นแรกนี้ หลวงพ่อวัดพิชัยสงคราม ท่านตั้งใจสร้างและปลุกเสกอย่างเต็มที่ จึงเป็นวัตถุมงคลยอดนิยม และหายากอีกรุ่นหนึ่งของท่านครับ ที่เห็นเป็นพระกริ่งรุ่นแรก เททองแบบโบราณ เนื้อ”นวะโลหะ” ที่สร้างไว้ไม่มากนัก และสร้างไว้เพียงเนื้อ”นวโลหะ”เพียงเนื้อเดียว
ประวัติหลวงพ่ออุดม วัดพิชัยสงคราม (บทความนี้ยาวหน่อยนะครับ)
หลวงพ่ออุดม “อุตตมปญฺโญ” วัดพิชัยสงคราม ท่านเป็นสุดยอดเกจิในยุคปัจจุบันอีกท่าน ที่คนเมืองกรุงเก่า ให้การยอมรับและศรัทธาท่านมากอีกหนึ่งท่าน ท่านศึกษาร่ำเรียนมาจากสาย “วัดประดู่ทรงธรรม”มาอย่างครบถ้วนกระบวนความ ชนิดยากที่จะหาใครเทียบ ชื่อเสียงของวัดประดู่ทรงธรรมมีมาช้านานตั้งแต่สมัยอยุธยา สำนักผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาอาคม หลวงพ่อกลั่นวัดพระญาติ อาจารย์เภา หลวงปู่เทียมวัดกษัตริย์ตราธิราช หลวงปู่สีวัดสะแก หรือหลวงปู่ดู่วัดสะแกท่านก็จบมาจากสาย “วัดประดู่ทรงธรรม” เช่นเดียวกัน
วัตถุมงคลของหลวงพ่อท่าน สร้างน้อย โดยเฉพาะของในยุคแรกๆด้วยแล้ว สร้างจำนวนน้อยมาก เรื่องประสบการณ์ในวัตถุมงคลของท่าน มีประสบการณ์มาจนนับไม่ถ้วน ทั้งเรื่องแคล้วคลาด คงกระพัน มหาอุตม์ เซียนน้อยและเซียนใหญ่ของอยุธยาตามเก็บพระของท่านอย่างเงียบๆ พระของท่านท่านไม่มีการโฆษณาหรืออนุญาตให้นายทุนเข้ามาลงทุนสร้างพระเพื่อการพานิช ดังนั้นเราๆจะไม่เห็นพระของท่านออกลงจองตามสถานที่ต่างๆยกเว้นในวัดของท่านเท่านั้น
เราลองมาศึกษาประวัติโดยย่อของท่านกันนะครับ……..วัดพิชัยสงคราม ต.กะมัง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา วัดนี้เป็นวัดราษฎร์โบราณ ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้างไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ แต่มีกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่กล่าวถึงวัดนี้ สรุปความได้ว่า ณ วันเสาร์ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก (จุลศักราช ๑๑๒๘ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๐๙) ขณะกองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ พระยาวชิรปราการ (สิน) เจ้าเมืองตาก ประเมินสถานการณ์สงครามว่า กรุงศรีอยุธยาจะต้องเสียให้แก่กองทัพพม่าอย่างแน่นอน เพราะข้าราชการ แม่ทัพนายกองขาดความเป็นธรรม ขาดความสามัคคีที่จะร่วมแรงร่วมใจกันต่อต้านกองทัพพม่า จึงพร้อมด้วยพรรคพวกทหารหาญร่วมอุดมการณ์ ประมาณ ๑,๐๐๐ คน ฝ่ากองทัพพม่าทางทิศตะวันออก ข้ามลำน้ำป่าสัก รวมพล ณ “วัดพิชัย” เวลาค่ำ ร่วมให้สัตยาธิษฐานต่อพระประธานในพระอุโบสถ ขอให้เดินทางโดยปลอดภัย กลับมากู้กรุงศรีอยุธยามีชัยชนะต่อข้าศึก เป็นอัศจรรย์ฝนโปรยลงมาเป็นมหาพิชัยฤกษ์ก่อนออกเดินทางไปมีชัยชนะต่อกองทัพพม่าที่ติดตามโจมตี ทิ้งกรุงศรีอยุธยาซึ่งถูกเพลิงเผาผลาญไว้เบื้องหลัง ผ่านเมืองนครนายก เมืองระยอง ตั้งมั่นรวบรวมไพร่พล ณ เมืองจันทบุรี จนกลับมากอบกู้อิสรภาพมีชัยชนะต่อข้าศึกโดยเด็ดขาด ปราบดาขึ้นครองราชย์สมบัติเป็น “พระเจ้ากรุงธนบุรี” ได้รับการถวายพระเกียรติเป็น “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”
วัดพิชัยคงเป็นวัดร้างมาแต่ พ.ศ.๒๓๐๙ ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา จนสมัยรัตนโกสินทร์ ประมาณสมัยรัชกาลที่ ๔ หรือ รัชการที่ ๕ ชาวบ้านมีจิตศรัทธาร่วมใจกันบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ขนานนามมงคลอันเป็นเหตุการณ์จากประวัติศาสตร์ เป็นอนุสรณ์ว่า “วัดพิชัยสงคราม” มีพระสงฆ์จำพรรษาสืบมาจนทุกวันนี้
พระครูวิชัยกิจจารักษ์ (หลวงพ่ออุดม อุตตมปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดพิชัยสงคราม ชาติภูมิ พระครูวิชัยกิจจารักษ์ อายุ 78 ปี พรรษาที่ 58 เดิมชื่อ เด็กชายอุดม ลัดดา เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2479 ปีชวด ที่แพ ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรคนโตของคุณพ่อบัว ลัดดา คุณแม่ชั้น ลัดดา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน ตามลำดับดังนี้ คนแรก หลวงพ่ออุดม อุตตมปญฺโญ (พระครูวิชัยกิจจารักษ์) คนที่ 2 นางปราณี พงษ์สุวรรณ์ คนที่ 3 ว่าที่ร้อยตรีสุนทร ลัดดา คนที่ 4 นายวิชัย ลัดดา
เด็กชายอุดม เริ่มการศึกษา เมื่ออายุเข้าสู่วัยเรียน ได้ศึกษาเล่าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดพระญาติการาม จากนั้นติดตามคุณพ่อ คุณแม่ไปอยู่อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่วัดอุโลม มีพระอาจารย์เยื้อนเป็นครูใหญ่จาดนั้นติดตามคุณพ่อ คุณแม่มาอยู่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลับมาเรียนที่โรงเรียนวัดพระญาติการามอีก มีครูเทียมประเสริฐ เป็นครูใหญ่ จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เข้าเรียนต่อมัธยมศึกษาปีที่ 1 มัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ โรงเรียนสุนทรวิทยามีครูสุทัศน์ (เสมอใจ) สัมภวผล เป็นครูใหญ่ เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ไปสอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนช่างไม้ท่าวาสุกรี (วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบัน) เรียนอยู่ได้ประมาณ 5 เดือน เกิดเจ็บป่วยรักษาอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น จึงขอลาพักการเรียน 7 วัน แล้วจะกลับไปเรียนใหม่
เด็กชายอุดม เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ หลังจากลารักษาสุขภาพ อายุครบ 15 ปี คุณแม่ไปบนหลวงพ่อโต (พระพุทธไตรรัตนนายก) วัดพนัญเชิง ว่าถ้าหากหายป่วยจากอาการที่ไม่ทราบสาเหตุจะบวชเณรถวาย 7 วันหลังจากนั้นก็หายป่วยเด็ดขาด คุณแม่จึงนำเด็กชายอุดม ลัดดา เข้าบรรพชาเป็นสามเณรกับท่านพระครูศีลกิตตุคุณ (หลวงพี่อั้น) วัดพระญาติการาม เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2494 เมื่อบรรพชาแล้วโยมแม่จึงนำสามเณรอุดมมาฝากให้อยู่กับพระอาจารย์ต่วน วัดกล้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อบรรพชาครบ 7 วัน สามเณรอุดม มีความมุ่งมั่น มีจิตศรัทธาในพระบวรพระพุทธศาสนา ไม่คิดกลับไปเรียนทางด้านวิชาสามัญ โยมแม่จึงตัดสินใจให้ลาออกจากโรงเรียนช่างไม้ท่าวาสุกรี สามเณรอุดม จึงหันมาเอาดีทางด้านธรรมะ โดยศึกษาหาความรู้ ศึกษาเล่าเรียน ตั้งใจบำเพ็ญบุญกุศล ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ภาวนา อยู่เป็นนิจ
การศึกษาทางธรรม พ.ศ. 2494 (อายุ 15 ปี) เรียนกัมมัฏฐาน กับท่านอาจารย์จาบ สุวรรณ สำนักเรียนกัมมัฏฐาน วัดประดู่ทรงธรรม (ซึ่งมีศักดิ์หรือฐานะเป็นตาแท้ ๆ ของสามเณรอุดม ลัดดา) พ.ศ. 2495 (อายุ 16 ปี) เรียนนักธรรมชั้นตรี ที่สำนักเรียน วัดสุวรรณดาราราม สอบได้นัดธรรมชั้นตรี ในสนามหลวง พ.ศ. 2496 (อายุ 17 ปี) เรียนนักธรรมชั้นโท ที่สำนักเรียน วัดสุวรรณดาราราม สอบได้นักธรรมชั้นโท ในสนามหลวง พ.ศ.2499 (อายุ 20 ปี) เรียนนักธรรมชั้นเอก ที่สำนักเรียน วัดสุวรรดาราม สอบได้นักธรรมชั้นเอก ในสนามหลวง เมื่ออายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ สามเณร อุดม ลัดดา มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและสืบทอดพระพุทธศาสนา ได้บอกกับโยมพ่อ โยมแม่ ขออุปสมบทตามความตั้งใจ สามเณรอุดม ลัดดา ได้เข้าอุปสมบทเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2499 เวลา 16.05 น. โดยมี • หลวงพ่อพระครูศีลกิตติคุณ (หลวงพ่ออั้น) วัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ • พระอธิการทองดำ ปิยกโร วัดพิชัยสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ • พระอาจารย์เฉลิม เขมทสฺส วัดพระญาติการาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “อุตตมปญฺโญ” แปลว่า ผู้อุดมไปด้วยสติปัญญา จำพรรษา ณ วัดกล้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้นถึงปลายปี พ.ศ.2502 คณะกรรมการวัดพิชัยสงคราม ได้กราบอาราธนานิมนต์มาจำพรรษา ณ วัดพิชัยสงคราม ต่อมา วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2509 พระอธิการทองดำ ปิยกโร ได้ลาสิกขาบท คณะกรรมการวัดพิชัยสงคราม จึงมีมติให้พระอุดม อตตมปญฺโญ รักษาการแทนเจ้าอาวาส รับหน้าที่ปกครองสงฆ์ วัดพิชัยสงคราม จนกระทั่ง วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2511 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส วัดพิชัยสงคราม เป็นองค์ที่ 7 ของวัดสืบมาจนถึงปัจจุบัน หลวงพ่ออุดม อุตตมปญฺโญ ได้รับสมณศักดิ์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2527 เป็นพระครูสัญบัตรชั้นโท ได้รับพระราชทินนามว่า “พระครูวิชัยกิจจารักษ์”
การศึกษาทางพุทธาคม นับตั้งแต่บรรพชาเป็นสามเณร นอกจากการเรียนกัมมัฎฐาน กับท่านอาจารย์จาบ สุวรรณแล้ว ท่านยังได้ศึกษาวิชาอาคมควบคู่กันไปด้วย โดยท่านได้ศึกษาด้วยตนเองจากตำรา คัมภีร์โบราณของวัดกล้วย ซึ่งเป็นสรรพวิชาในสายวัดประดู่ทรงธรรม หลวงพ่อได้มุ่งมั่นฝึกฝน ท่องจำภาวนาปฏิบัติ ทุกบท ทุกวรรค ทุกตอน จนแม่นยำ และเชี่ยวชาญ จนจบสิ้นกระบวนความตำรา ซึ่งครบด้วย เวทมนต์คาถาลงอักขระ เลขยันต์ หลังจากเรียนจบ หลวงพ่อได้เริ่มสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาหลายอย่าง แต่ที่นับได้ว่าเป็นพระเครื่องรุ่นแรกของท่าน ก็คือ พระพิมพ์ขุนแผนเนื้อผง ปี พ.ศ.2509 ต่อมาก็ได้มีการสร้างพระเครื่องขึ้นมาอีกหลายอย่าง เช่นพระพิมพ์สมเด็จ พระปิดตา ตะกรุดโทน ตะกรุดสี่มหา ตะกรุดมหาระงับ และวัตถุมงคลอื่น ๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
นอกเหนือจากความศักดิ์สิทธิแห่งองค์พระเครื่อง เครื่องรางของขลังแล้ว หลวงพ่อได้ใช้วิชาอาคมต่าง ๆ ช่วยเหลือชาวบ้าน ที่เดินทางมาหา ท่านได้ช่วยเหลือและแนะนำให้ทำสิ่งต่าง ๆ ตามดวงชะตาของแต่ละคนให้บรรเทาเบาบางหมดไป แม้ว่าหลวงพ่อไม่ใช่พระที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ด้วยความเมตตา คอยช่วยเหลือชาวบ้านทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน จึงมีผู้คนพากันเดินทางมากราบเป็นประจำ ด้วยความเคารพและศรัทธาอย่างสูงสุด
งานการพัฒนาและก่อสร้างศาสนสถานเมื่อมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพิชัยสงคราม หลวงพ่อได้พัฒนาศาสนสถานต่าง ๆ จนเจริญรุ่งเรือง ผิดไปจากสภาพเดิมอย่างมาก งานด้านการก่อสร้างหลวงพ่อได้บูรณะ ปฏิสังขรณ์อุโบสถที่ชำรุดเสียหายขึ้นใหม่ และได้ก่อสร้างถนนเข้าวัด เมรุเผาศพ เทพื้นรอบอุโบสถ สร้างศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฏิ ศาลาเอนกประสงค์ หอฉัน โรงเรียนพระปริยัติธรรม รั้วกำแพง พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ตำหนักพระเจ้าตากสิน ศาลวีรชน เขื่อนกั้นน้ำ และถาวรวัตถุอีกมากมาย นอกจากงานด้านก่อสร้างแล้ว หลวงพ่อยังเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม และคุมสอบธรรมศึกษาตั้งทุนสนับสนุนพระภิกษุสามเณรในการศึกษาธรรม และ เป็นประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ให้ความรู้ธรรมะแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป
Reviews
There are no reviews yet.